เตือน ‘นกแอร์’ เกิดซํ้าสองพักใบอนุญาต ถก 41 แอร์ไลน์รับมือตรวจสอบมาตรฐาน

18 ก.พ. 2559 | 12:00 น.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี(16กพ.59) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม ต้องเชิญผู้บริหาร สายการบินนกแอร์ เข้ามาหารือแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาการบริหารภายในที่ส่งผลกระทบให้มีการยกเลิกเที่ยวบิน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก เห็นว่าเป็นปัญหาที่ผู้บริหารสูงสุดของสายการบิน ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ และไม่ควรหนีปัญหา

ทั้งยังระบุว่าถ้าเกิดปัญหาในลักษณะนี้ซีอีโอต้องออกมารับผิดชอบเสียแต่เนิ่น ๆ และยังเห็นว่าทุกสายการบินจะต้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาในการจัดเที่ยวบิน ขนส่งผู้โดยสารไปยังเป้าหมาย ส่วนกระทรวงคมนาคมจะต้องเตรียมความพร้อมรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรในองค์การด้านการบินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะอาจได้รับผลจากมาตรการยกระดับมาตราฐานการบิน

นอกจากนี้ รองนายกสมคิดยังกล่าวในที่ประชุมครม.อีกว่า "รัฐบาลรับไม่ได้ในเชิงของการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องเรียกนกแอร์มาเตือนว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ซ้ำเป็นครั้งที่2 จะต้องพักการใช้ใบอนุญาติ และถ้ายังมีปัญหาเป็นครั้งที่ 3 จะเพิกถอนในอนุญาติการบิน และจะใช้มาตรการแบบนี้กับทุกสายการบิน คือจะตักเตือนในครั้งแรก" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่าได้รายงานที่ประชุม ครม.รับทราบถึงปัญหาสายการบินนกแอร์แล้ว และสั่งให้ส่งแผนบริหารความเสี่ยงและมาตรการต่างๆ มายังกระทรวงภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ คาดจะใช้เวลาในการตรวจสอบภายใน 1 สัปดาห์

"ได้เรียกนกแอร์มาว่ากล่าวตักเตือน ตามมาตรการ 3 ข้อที่ออกไป คือ ผิดครั้งแรกจะมีการตักเตือน โดยสิทธิผู้บริโภคถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และแต่ละสายการบินต้องมีแผนรองรับ โดยเฉพาะ CEO ต้องลงพื้นที่หน้างานทันที เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ หรือต้องมีผู้ตัดสินใจ หรือรับผิดชอบที่หน้างาน"

รมว.คมนาคม กล่าวอีกว่า กรณีสายการบินนกแอร์นั้น ถือเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารในการปรับโครงสร้างองค์กรรองรับการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ในอนาคต รวมถึงทุกสายการบินจะต้องมีความพร้อมทั้งเรื่องความปลอดภัย นักบิน และธุรกิจ ความมั่นคงของสายการบิน นอกจากนี้ ทุกสายการบินจะต้องส่งข้อมูลประวัตินักบินในเรื่องจำนวนชั่วโมงบิน ระยะเวลาการพักบิน รวมถึงแผนนักบินสำรองต่อ กพท. ตามมาตรฐานของ ICAO FAA และ EASA เพื่อออกเป็นกฎเกณฑ์ในการควบคุมเรื่องดังกล่าว ซึ่งในอนาคตจะต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น

"กระทรวงคมนาคมจะเรียก 41 สายการบินมาหารือภายในสัปดาห์หน้า เพื่อกำหนดมาตรฐาน หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ตามแผนของ กพท. และรองรับการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ"

ด้าน นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ จำกัด กล่าวว่า ปัญหาการหยุดทำการบินของนักบิน 5 คน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ทำให้เที่ยวบินต้องถูกยกเลิกไป-กลับ รวม 18 เที่ยวบินนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้น ถือเป็นความไร้วินัยของนักบินที่ไม่ทำตามหน้าที่ของตัวเอง เพราะไม่พอใจการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของฝ่ายการบิน เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน ให้ผ่านการตรวจสอบในโครงการ IOSA-IATA Operational Safety Audit ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(IATA)และวางระบบการทำงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA)

เนื่องจากนกแอร์กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับสายการบินพันธมิตรในยุโรป เพื่อสับเปลี่ยนเครื่องบินระหว่างกันในช่วงไฮน์ซีซันและโลว์ซีซัน รวมถึงการทำการบินรหัสร่วมหรือโค้ดแชร์ในอนาคต ดังนั้นการปรับโครงสร้างองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเซฟตี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ ซึ่งในการพรี-ออดิต เพื่อมุ่งให้ผ่านการตรวจสอบในโครงการของIOSA จึงต้องมีการจัดตั้งฝ่ายเซฟตี้ ออดิต เพื่อมาตรวจสอบการทำงานของฝ่ายนักบิน เพื่อปรับกระบวนการทำงานใหม่ แทนจากเดิมที่นักบินตรวจสอบกันเองควบทั้งฝ่ายบริหารและเป็นนักบิน ซึ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการไล่คนออก แต่เปลี่ยนคน โดยมีอดีตผู้บริหารด้านการบินของการบินไทยที่เข้าใจกระบวนการนี้ เข้ามาวางระบบการทำงานใหม่ ทำให้กลุ่มนักบินเดิมที่เป็นกลุ่มที่ดึงตัวมาจากกองทัพเรือ ไม่พอใจและประท้วงไม่ทำการบิน

"จากเดิมที่เราเคยใช้นักบินบางกลุ่มทำงานซ้อนทั้งปฏิบัติการบิน และรับหน้าที่ตรวจสอบ เราจะปรับให้กลับไปทำการบินอย่างเดียว เพราะไม่อยากให้เป็นนักบิน และตรวจสอบนักบินด้วย รวมทั้งที่ผ่านมาเคยตรวจพบว่ามีนักบินบางกลุ่มที่ทำการบินเกินชั่วโมงกำหนด ซึ่งพอตรวจเจอจึงให้หยุดทำการบินทันที ทำให้เรากลับมาคิดว่าต้องมีการหมกเม็ดเรื่องแบบนี้อีก จึงเป็นเหตุผลที่ต้องยกระดับมาตรฐาน"

นายพาที กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนกแอร์มีนักบิน 130 คน ไม่ถึงกับขาดแคลน เพราะนักบินทำการบินเป็นไปตามหลักการทำการบิน และจะมีนักบินเพิ่มขึ้นอีก 20 – 30 คนในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ หลังจากก่อนหน้านี้มีสายการบินอื่นเข้ามาดึงนักบินของนกแอร์ไปร่วมงานค่อนข้างมาก ทำให้นกแอร์ประสบปัญหาขาดแคลนนักบินมาโดยตลอด แต่ก็ได้รับนักบินใหม่ๆ เข้ามาร่วมงานทดแทน และยังมีการปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับจำนวนนักบินด้วย

ทั้งนี้นักบินที่มีปัญหาก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทและเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง ทำให้นกแอร์ต้องมีการสอบสวนการกระทำของนักบินจำนวน 8 คน ที่เบื้องต้นสั่งพักงาน 2 คน และไล่ออก 1 คน คือ นายศานิต คงเพชร อดีตผู้จัดการแผนกรักษามาตรฐานการบินและนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน ซึ่งจะไม่มีการเจรจาใด ๆ กับนายศานิตอย่างแน่นอน

เนื่องจากมีการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างชัดเจน โดยในวันที่มีปัญหานายศานิต มาลงชื่อทำการบินในเวลา 14.15 น. เพื่อทำการบินในเวลา 15.15 น. มีการสั่งนักบินผู้ช่วยไปรอทำการบินอยู่บนเครื่องแล้ว แต่ก่อนเครื่องออกบินเพียงแค่ครึ่งชั่วโมง นายศานิตกลับแจ้งว่าลาป่วยและเดินทางกลับบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ และพร้อมรับมือหากจะมีการยื่นฟ้องร้องที่ให้ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรม ตนก็จะฟ้องร้องกลับเนื่องจากนายศานิต ทำความผิดวินัยอย่างชัดเจน

"ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นผลกระทบต่อภาพรวมการดำเนินธุรกิจบ้างแต่คาดการณ์ว่าในส่วนของรายได้จะยังเติบโตกว่าปีที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (โหลดแฟกเตอร์) เฉลี่ยอยู่ที่ 93% และยังมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องและยอมรับว่าปัญหาการบริหารจัดการเที่ยวบินที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดพลาดของตน เพราะไม่ได้มีการมอบอำนาจให้กับฝ่ายบริหารตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม และก็ไม่ได้ต้องการที่จะเลิกจ้างพนักงานรายใดทั้งนั้น โดยเฉพาะในส่วนของนักบิน ยกเว้นในกรณีของนายศานิต ที่ผิดวินัยร้ายแรง" นายพาที กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559