ทางออกนอกตำรา : จาก"มักกะสัน" ยัน "แปดริ้ว" นายทุน-ขุนศึก-ประชาชน!

19 ก.ย. 2561 | 13:37 น.
68596598 TP6 ผมนำเสนอประเด็นเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เศรษฐีอันดับ 1 ของไทย ผู้ประกาศยุทธศาสตร์กินรวบโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.3 แสนล้านบาท ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดนโยบายให้เป็น “ประตูทองการลงทุนไทย” มาหลายระลอก

จนเพื่อนพ้อง ตลอดจนผู้บริหารซีพี 2-3 คนทักท้วง และตั้งคำถามมาดังๆ ว่า...ผมมีปัญหาอะไรกับซีพี หรือสนง.อีอีซี หรือเปล่า ทำไมจึงโจมตีซีพี และโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน มีวาระอะไรหรือเปล่า?

ผมขอชี้แจงอีกครั้งนะครับว่าผมไม่มีปัญหาอะไรกับกลุ่มซีพี หรืออีอีซี ไม่มีวาระซ่อนเร้นใดแม้แต่น้อยและผมไม่เคยปฏิเสธทุนนิยม หาก “ทุนนั้นมีธรรม”

ผมเป็นคนหนึ่ง ที่สนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) แบบสุดตัว มาตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายและริเริ่มโครงการ

ในการสร้างเขตการลงทุนพิเศษนั้น รัฐบาลไม่สามารถเปิดพื้นที่ทั้งหมด 77 จังหวัด 321 ล้านไร่ เพื่อมอบสิทธิพิเศษด้านการลงทุนได้ทั้งหมด จะต้องมี “พื้นที่ยุทธศาสตร์หลัก” ที่ดึงดูดผู้นำเงินมาลงทุนเพื่อนำไปสู่การสร้างงาน กำลังซื้อ การกินดีอยู่ดีของผู้คนขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มี “พื้นที่พิเศษแบบนี้”
TV-4
บรรพชนคนทำข่าวบอกว่า อาชีพเรามีหน้าที่สำคัญคือ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หากเห็นนโยบายรัฐบาลดี เราจะต้องสนับสนุนทำข่าวสาร ผ่านสื่อ ให้ผู้คนในสังคมได้เห็นภาพเห็น “โอกาส” จากนโยบายรัฐ มิใช่มีแต่ “นายทุน” เท่านั้นที่เห็นโอกาส แล้วปล่อยให้คนยากจนคนพื้นที่ ไม่รู้อะไรเลย

ต้องบอกว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง” เป็นโครงการที่ดีมากในการสร้าง “Golden Land” ของประเทศขึ้นมา

แต่พลันเมื่อเจ้าสัวธนินท์ ออกมาบอกว่า “ผมต้องการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงร่วมกับจีนและญี่ปุ่น โดยซีพี เตรียมแผนลงทุนครั้งใหญ่หลายแสนล้านบาท สร้างโครงการเมืองใหม่ที่แปดริ้ว พื้นที่ 10,000 ไร่ ให้เป็นสมาร์ทซิตี และจะสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมต่อมายังสถานีมักกะสัน ให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯใน 20 นาที”

และเมื่อสอบทานย้อนไปแล้วพบว่าเจ้าสัวธนินท์ให้ข้อมูลในคราวไปโรดโชว์ที่กรุงปักกิ่ง-นครเซี่ยงไฮ้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ลงทุนสูงหากรัฐทำแล้วอาจจะขาดทุน จึงอยากให้ซีพีลงทุนในส่วนของรถไฟฟ้าสายตะวันออก”

ทำให้ผม ตะลึงและมองดูไปรอบๆ ว่า ตกลงแล้วโครงการลงทุนของรัฐบาล 2.3 แสนล้านบาท ที่จะนำไปสู่การประมูลเป็นอย่างไร เมืองใหม่ที่ชาวบ้านตั้งตารออยู่ตรงไหน ทำไมเจ้าสัวธนินท์ถึงกล้าประกาศออกไปเช่นนั้น

นี่คือต้นเหตุการสืบค้นข้อมูล แล้วผมพบอะไรครับ..พบว่า ในการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง การพัฒนาเมืองใหม่ที่แปดริ้วมีอะไรที่ไม่รู้อีกมากมาย
T2

พบว่า กลางปี 2557 ชาวบ้านตำบลโยธะกา อ.บางนํ้าเปรี้ยว ได้รับหนังสือจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ฉะเชิงเทราที่ กค 0311.07/ว 3534 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ลงนามโดย นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ยกเลิกสัญญาเช่าและการเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และส่งมอบที่ดินคืนทหารเรือ ภายใน 30 วัน นับตั้งแตวันที่่ 31 ธันวาคม 2557 เพราะกองทัพเรือมีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือโยธะกา ในราชการทหาร แต่ชาวบ้านยังคงใช้ที่ดินทำนาต่อไป ไม่มีใครย้ายออกไป

วันที่ 19 กันยายน 2560 กองทัพเรือทำหนังสือถึงชาวบ้านอีกครั้ง ลงนามโดย พล.ร.ท. บรรพต เกิดภู่ รองหัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ขอให้ส่งมอบคืนที่ดินให้กองทัพเรือใน 7 วัน ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สิน หากยังเพิกเฉย ทางราชการจะดำเนินคดีตามกฎหมาย

วันที่ 6 ตุลาคม 2560 ชาวบ้านทำหนังสือถึง หัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาการดำเนินการฯ และรองหัวหน้า คณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ผ่อนผันการส่งมอบที่ดินคืนออกไปก่อน จนกว่าจะมีการช่วยเหลือ หรือเยียวยาเรื่องที่อยู่อาศัยและเรื่องการทำมาหากิน

วันที่ 11 ตุลาคม 2560 ชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียน 2 ฉบับ ไปยัง 1. นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ 2. ชาวบ้านทำหนังสือถึง ผู้บัญชาการทหารเรือ ทั้ง 2 ฉบับ เป็นหนังสือขอความเมตตาพิจารณาให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีกองทัพเรือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้ส่งมอบที่ดินคืน

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านทำหนังสือถึง ผู้บัญชาการทหารเรือ เพื่อขอให้ชี้แจงข้อมูล ดังนี้ 1) จำนวนเนื้อที่ดินที่กองทัพเรือต้องการใช้ประโยชน์ 2) แผนที่ของแปลงที่ต้องการใช้ประโยชน์ 3) วัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดิน 4) เหตุผลความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ที่ดิน 5) ผลประโยชน์ที่จะตกแก่ราษฎรในพื้นที่ และ 6) มาตรการชดเชย เยียวยา ให้กับราษฎรที่ไร้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินดังกล่าวอย่างไร
TV-1 กองทัพเรือได้มีหนังสือตอบกลับที่ กห 0506/14 ลงวันที่ 22 มกราคม 2561 โดย พล.ร.ท.กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือ ทำการแทนผู้บัญชาการทหารเรือ ความว่า กองทัพเรือมีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณดังกล่าวแล้ว จึงยืนยันการยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินศูนย์เกษตรฯ โยธะกา พร้อมกับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดิน หากยังคงเพิกเฉย จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

นี่เป็นจดหมายฉบับเดียวที่ชาวบ้านได้รับการตอบกลับจากกองทัพเรือ และไม่มีคำชี้แจงถึงความจำเป็นการใช้ที่ดิน ตามที่ชาวบ้านร้องขอ

วันที่ 20 มีนาคม 2561 ชาวบ้านทำหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ เพื่อขอให้ชี้แจงข้อมูลการยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินเพื่อส่งมอบที่ดินให้สำนักงานอีอีซี แต่จนบัดนี้ยังไม่มีการชี้แจงชาวบ้าน

อะไรทำให้หน่วยงานของรัฐละเลยความเดือดร้อนของประชาชน อะไรดลใจทำให้กองทัพเรือไม่อธิบายความจำเป็นการใช้ที่ดินให้ประชาชนรับทราบ ทั้งๆที่ในเชิงของมวลชนกับการพัฒนานั้น ประชาชน...เปรียบดั่งผนังทองแดงกำแพงเหล็ก

ทั้งที่ความจริงแล้วกองทัพเรือใช้ที่ดินแค่ 200 ไร่ แต่กลับเรียกคืนที่จากชาวบ้านแล้วส่งมอบพื้นที่ออกไป 4,000 ไร่ เพื่อจูงใจนายทุนมาสร้างเมืองใหม่ โดยที่ประชาชนไม่รู้...

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3402 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 20-21 ก.ย.2561
23626556