สศช.หั่นเป้าจีดีพี ปี59 เหลือขยาย3.3% เกาะติดจีนคอนโทรลเศรษฐกิจขาลง-เงินหยวน

19 ก.พ. 2559 | 04:00 น.
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช.) ได้แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทย โดย Q 4/2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.8% เทียบจากที่ขยายตัว 2.9% ในไตรมาสก่อนหน้า (QoQ ) และเมื่อปรับผลของฤดูการออกแล้วจะขยายตัวที่ 0.8 % ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2558 ขยายตัว 2.8% ปรับดีขึ้นจากปี 2557 ที่ขยายตัว 0.8%

[caption id="attachment_32089" align="aligncenter" width="700"] แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559 แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559[/caption]

ศก. ปี 58 โต 2.8% “เกษตร-ส่งออก” ถ่วง

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่าปัจจัยที่เป็นตัวถ่วงการขยายของเศรษฐกิจในรอบปี 2558 1.มาจากภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและราคาที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทำให้ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรใน Q 4/2558 ลดลง 3.4% และทั้งปีลดลง 4.2% ผลผลิตที่ลดลง อาทิข้าวเปลือก (-7.9) ยาง (-3.2) ผลไม้ (-9.6) ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร และรายได้เกษตรกรลดลง 5.8% และ 8.8% ตามลำดับ ขณะที่การผลิตนอกภาคเกษตรขยายได้ต่อเนื่องโดย Q4/2558 ขยายตัว 4.2% และทั้งปีขยายที่ 3.6%

2. ภาคส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยรวมยังชะลอตัวโดยเฉพาะจีน ราคาสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลงตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ส่งออกรวมสินค้าและบริการใน Q4/2558 ลดลงเป็นครั้งแรก โดยมูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ลดลง 7.9% ด้านปริมาณและราคาสินค้า ติดลบ 5.4% และ ลบ2.7% ตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญ ๆ เช่นตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (5) และออสเตรเลีย ยกเว้นตลาด CLMV ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้ส่งออกปี 2558 มีมูลค่ารวม 2.12 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง 5.6%

"เทียบแล้วส่งออกไทยยังไม่รุนแรงเท่าประเทศอื่น อย่าง Q4/2558 สหรัฐ ฯส่งออกติดลบ 10.4%, ญี่ปุ่นลบ 10% ส่วนอินโดนีเซีย, ไต้หวันและสิงคโปร์ ไม่ต่างกันหดตัวถ้วนหน้า ลบ 18.8% ลบ 13.9% และลบ 13.3% ตามลำดับ"

บริโภคครัวเรือน-ลงทุนรัฐโตเร่ง

ส่วนปัจจัยที่กระตุ้นเศรษฐกิจมาจากอุปสงค์ในประเทศขยายตัวเร่งขึ้น ทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (YoY) Q4/2558 เติบโต 2.5% โดยเครื่องชี้วัดจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์ก็ดี แม้ยังติดลบ 11.9% และลบ 3.7% ตามลำดับ แต่ช้าลงจาก Q3/2558 ที่ลบ 24.6% และลบ 16.4 % ตามลำดับ โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปี 2558 ขยายตัว 2.1% เทียบ 0.6% ในปี 2557

เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐใน Q4/2558 เพิ่ม 41.4% เร่งขึ้นจาก 21.9% ใน Q3/2558 โดยการลงทุนก่อสร้างเพิ่มถึง 54.5% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัว 1.9% ตามการลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้น 2.7% จากที่หดตัว 13.0% ใน Q3/2558 ส่งผลภาคการลงทุนรวมปี 2558 ขยาย 4.7% ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยว Q4/2558 จำนวน 7.8 ล้านคน เพิ่ม 3.7 % และรายได้จากท่องเที่ยว 4.21 แสนล้านบาท เพิ่ม 7.8% โดยทั้งปีมีจำนวนนักท่องเที่ยว 29.9 ล้านคน

หั่นเป้าศก.ปี59 โตเหลือ 3.3% ส่งออก 1.2%

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559 สศช. ได้ปรับประมาณการลงคาดขยายตัวที่ 2.8-3.8% (ค่ากลางที่ 3.3% ) จากประมาณเดิม (16 พ.ย. 58) ที่กรอบ 3.0-4.0% (ค่ากลาง 3.5%) ตามสมมติฐานด้านเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกที่คาดจะขยายตัว 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ ลดลงจากประมาณเดิมที่ 3.4% และ 3.8% ตามลำดับ และได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีนจาก 6.7% มาเป็น 6.5% เทียบปี 2558 ที่ขยาย 6.9% ส่งผลให้มูลค่าส่งออกไทยปีนี้คาดขยาย 1.2% ลดลงจากเดิมที่คาด 3.% (เทียบที่หด 5.6% ในปี 2558)

เลขาธิการ สศช. กล่าวถึงปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ได้แก่

1. เม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีภายใต้กรอบการขาดดุลที่เพิ่มจากปีงบ 2558 ที่ 2.5 แสนล้านบาท มาเป็น 3.9 แสนล้านบาทในปีงบ 2559, ความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้การเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจเร่งตัวขึ้น, เงินรายจ่ายจากนอกงบประมาณ อาทิ เงินเพื่อบริหารจัดการเรื่องน้ำ เงินกู้ซ่อมถนนที่เบิกจ่าย Q4/2558 ไป 2 หมื่นล้านบาท และยังเหลืออีก 6 หมื่นล้านบาทที่ยังไม่ได้ใช้

2. แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ กันยายน 2558-มกราคม 2559 (กองทุนหมู่บ้าน, เอสเอ็มอี, อสังหา ฯลฯ) วงเงินรวม 4.7 แสนล้านบาท โดยในปี 2558 เบิกจ่ายแล้วจำนวน 1.98 แสนล้านบาท และคาดจะเบิกจ่ายในปี 2559 อีก 1.8 แสนล้านบาท, โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท, กองทุนหมู่บ้านที่เริ่มทยอยออกมาในต้นปีนี้, เงินจากประมูลคลื่นความถี่ 4 จีที่จะเข้าสู่ระบบอีกราว 5 หมื่นล้านรวมถึงมาตรการด้านภาษี

3. แนวโน้มเงินบาทที่ยังอ่อนค่า 35.50 – 36.50 บาท/ดอลลาร์สรอ. แม้จะแข็งค่าขึ้นบ้างซึ่งเป็นผลจากที่เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย แต่เทียบปี 2558 ที่ 34.29 บาท/ดอลลาร์ สรอ. เงินบาทอ่อนค่าลง 5.0% 4. ราคาน้ำมันถูกลง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดจะปรับลงในช่วง 32.0 – 42.0 ดอลลาร์สรอ./บาเรล เทียบปี 2558 ที่ 50.9 ดอลลาร์ สรอ./บาเรล ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนและธุรกิจ และ 5 การขยายตัวต่อเนื่องของท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มเป็น 32.5 ล้านคน รายได้ 1.65 ล้านล้านบาท ขยายเพิ่มจากปี 2558 ที่ 8.8% และ 9.8% ตามลำดับ

 "มาตรการจีน-ตลาดเงินผันผวน"จุดเสี่ยง

ส่วนปัจจัยเสี่ยงในปี 2559 มาจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด อีกทั้งราคาสินค้าในตลาดโลกและราคาสินค้าเกษตรไทยยังฟื้นตัวต่ำ ตลาดการเงินผันผวนสูงและการที่ประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้นำเข้าดำเนินนโยบายค่าเงินอ่อนทั้งเงินยูโร เยน และเงินหยวนยังอ่อนค่าต่อเนื่อง ขณะที่เงินดอลลาร์สรอ.กลับแข็งค่าช้ากว่าที่คาดเดิม ทำให้การแข่งขันด้านราคามีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อการผลิตในปี 2559

"ต้องติดตามดูเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนว่าทางการจีนจะสามารถควบคุมการลงของเศรษฐกิจและสามารถการบริหารค่าเงินหยวนอย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนลดลงจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันเหลือ 3.2 ล้านล้านสหรัฐ ถือว่าน่ากังวล และเป็นประเด็นที่ต้องให้น้ำหนักมากกว่าปัจจัยสถาบันการเงินในยุโรป

มองมาตรการรัฐ 4.7 แสนล."เอาอยู่"

อย่างไรก็ดีมาตรการกระตุ้นภาครัฐก้อนใหญ่ที่ออกมา 4.7 แสนล้านบาท ก็ถือว่าน่าจะเพียงพอแล้ว จำนวนนี้คาดเบิกจ่ายในปีนี้ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งหากสามารถการกระตุ้นให้การใช้จ่ายเป็นไปตามแผน และเดินหน้าโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามระยะเร่งด่วน จูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ ก็น่าเพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ให้ขยายตัว 3.3% ส่วนจะต้องอัดฉีดมาตรการเพิ่มอย่างไรต้องติดตามดูสถานการณ์เศรษฐกิจ นายปรเมธี กล่าว

สศช.คาดว่า มูลค่าส่งออกสินค้าปีนี้จะขยายตัว 1.2% ตามการปรับลดสมมุติฐานราคาส่งออกที่ต่ำลงตามราคาน้ำมันที่ขยายตัว ลบ 1 ถึง 0.0% (ประมาณเดิมที่ 0.5-1.5 %) ส่วนการบริโภคครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวที่ 2.7% และ 4.9% ตามลำดับ (ดูตารางประกอบ ) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง ลบ 0.1% ถึง 0.9% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.2% ของจีดีพี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559