ศาลปกครองมีคำสั่ง "ไม่คุ้มครองฉุกเฉิน" ปมฟ้องคัดค้าน "แบบเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ"

18 ก.ย. 2561 | 12:03 น.
ศาลปกครองมีคำสั่งไม่คุ้มครองฉุกเฉิน ตามที่บริษัทร่วมทำงาน "เอส เอ" ฟ้องคัดค้าน แบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ ทอท. พร้อมเดินหน้าโครงการต่อ เล็งเรียกกลุ่มบริษัท "ดวงฤทธิ์" เข้ามาเซ็นสัญญา ให้เวลา 10 เดือน ทำแบบก่อสร้างแล้วเสร็จ ก่อนเปิดประมูลหาผู้รับเหมาเข้ามาลงทุน

รายงานข่าวจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า ในขณะนี้ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่คุ้มครองฉุกเฉิน ในกรณีกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน เอส เอ (S.A.) ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ไชน์-เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท อะซูซา เซคเคอิ จำกัด และบริษัท สกายปาร์ตี้ จำกัด ไปยื่นขอคุ้มครองฉุกเฉิน และยื่นฟ้อง ทอท. เป็นจำเลยที่ 1 และพวกรวม 1 คน เพื่อขอความเป็นธรรมและคัดค้านโครงการประกวดออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ


liBoCZjA

โดยอ้างว่า สาเหตุที่ต้องคัดค้านผลการประมูล เพราะกลุ่มบริษัทไม่ได้รับเอกสาร "ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ได้รับมอบจากทาง ทอท." ในชุดเอกสารสำหรับการเสนองานจากทาง ทอท. แต่อย่างใด และบริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ไซน์-เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด รับเอกสาร ก็ไม่มีการลงนามรับรองความครบถ้วนของเอกสาร อีกทั้งวันชี้แจงก็ไม่มีการทบทวนความครบถ้วนของขั้นตอน หรือ แนวทางในการยื่นเอกสารแต่ประการใด ทำให้กลุ่มบริษัทร่วมทำงาน "เอส เอ" ไม่ได้ยื่นต้นฉบับใบเสนอราคาดังกล่าว ทำให้ถูก ทอท. ปรับแพ้ ทั้ง ๆ ที่ได้คะแนนออกแบบเป็นอันดับที่ 1 และได้เลือกแบบที่มีคะแนนอันดับ 2 ของกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน "ดีบีเอแอลพี (ดวงฤทธิ์ บุนนาค) -นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสอี-เออาร์เจ (DBALP)" เป็นผู้ชนะแทน

ดังนั้นต่อจากนี้ คาดว่าในอีก 2 สัปดาห์จากนี้ ทอท. ก็จะเรียกทางกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพีเข้ามาเซ็นสัญญาได้ จากนั้นจะให้เวลา 10 เดือน ในการนำแบบเบื้องต้นดังกล่าวไปพัฒนาเป็นแบบที่จะใช้ก่อสร้างจริง โดยแบบที่จะก่อสร้างจะต้องมีการนำคำแนะนำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มาทำแบบให้เหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานและความปลอดภัยของการก่อสร้างสนามบิน


BE1CE565-A0FF-4DE6-AE2D-412F6A95D8C7

จากนั้นก็จะเปิดประมูลหาผู้รับเหมาเข้ามาก่อสร้าง เพื่อให้สามารถตอกเสาเข็มโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A มีพื้นที่ประมาณ 348 แสนตารางเมตร เป็นอาคารแบบมัลติ-เทอร์มินัล สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็น ผู้โดยสารภายในประเทศ 12 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 18 ล้านคนต่อปี มูลค่าการลงทุนราว 4 หมื่นล้านบาท

ส่วนการฟ้องร้องทางคดีก็คงเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันไปตามขั้นตอน ซึ่งทุกเรื่อง ทอท. ชี้แจงได้ ทั้งนี้ การที่ศาลปกครองมีมติไม่คุ้มครองฉุกเฉินตามที่กลุ่มบริษัทร่วมทำงาน เอส เอ ยื่นคำร้อง ถือเป็นดุลยพินิจของศาล ที่ได้พิจารณาหลังจากได้เรียกทั้ง ทอท. และกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน เอส เอ เข้ามาชี้แจง

สำหรับการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองของกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน เอส เอ ได้ยื่นคำฟ้องใน 3 ประเด็น 1.ประเด็น ทอท. ตัดสินไม่ยุติ , 2.ประเด็นเรื่องของแบบมีปัญหา ใน 2 ประเด็นนี้ศาลไม่รับคำฟ้องและไม่ใช่อำนาจศาล และ 3.ประเด็นเรื่องการไม่ได้รับเอกสาร "ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ได้รับมอบจากทาง ทอท." ซึ่งประเด็นนี้ศาลรับคำฟ้องแต่ไม่รับคุ้มครองฉุกเฉินให้


V9lz6AdQ

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ ทอท. ได้ชี้แจงเหตุผลที่ปัดกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน เอส เอ แพ้ฟลาว์เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ และ ทอท. ได้เรียกผู้ได้คะแนนเทคนิคในลำดับที่ 2 ซึ่งคะแนนเกินกว่า 80 % คือ กลุ่ม DBALP เข้าเปิดซองราคาเป็นลำดับถัดไป ในประเด็นที่กลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประกวดราคาในครั้งนี้ เนื่องจากไม่ได้รับเอกสาร "ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ได้รับจาก ทอท." ในชุดเอกสารสำหรับการเสนองานจาก ทอท. นั้น ทอท. ชี้แจงว่า ต้นฉบับใบเสนอราคาถือเป็นเอกสารที่สำคัญในการยื่นข้อเสนอด้านราคา เจ้าหน้าที่พัสดุของ ทอท. จะจัดเตรียมโดยประทับหมายเลขเรียงลำดับ พร้อมลงลายมือชื่อกำกับแล้ว จึงบรรจุในซองเอกสารที่จะจำหน่ายให้ผู้ที่สนใจจะซื้อเอกสาร และในขณะที่ จำหน่ายเจ้าหน้าที่พัสดุ ทอท. จะชี้แจงให้ผู้ซื้อเอกสารทราบว่ามีเอกสารรายการใดบ้าง

ตลอดระยะเวลาการขายแบบ การชี้สถานที่ตอบข้อซักถามจนยื่นแบบประกวด ไม่มีผู้ซื้อซองรายใดทักท้วง หรือร้องค้านว่าไม่ได้เอกสารหรือไม่ สามารถที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขการประมูลได้ และกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. เอง มีผู้มาซื้อซองถึง 2 ราย คือ บริษัท Span และบริษัท ไซน์-เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร จึงเป็นไปได้ยากที่กลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. จะไม่ได้รับต้นฉบับใบเสนอราคาจาก ทอท.


450587-1

นอกจากนี้ ตามเงื่อนไขและข้อตกลงข้อ 4.5 ที่กำหนดว่า "ก่อนยื่นซองประกวดแบบ ผู้เสนองานจะต้องตรวจดูร่างสัญญา รายละเอียดต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน และเข้าใจในเอกสารประกวดแบบทั้งหมดเสียก่อนที่จะตกลงยื่นซองประกวดแบบตามเงื่อนไขในเอกสารประกวดแบบ" ดังนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. ที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารก่อนที่จะยื่นซองเสนอราคา

สำหรับเหตุผลที่ต้องใช้ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ ทอท. กำหนดในการยื่นซองเสนอราคา ไม่สามารถใช้ใบเสนอราคานอกเหนือจากนี้ได้นั้น เนื่องจากเอกสารดังกล่าวนอกจากผู้ยื่นซองต้องใส่ข้อเสนอด้านราคา ซึ่งระบุเป็นตัวเลขและตัวอักษรแล้ว ยังมีเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญอื่น ๆ ระบุไว้ ได้แก่ ระยะเวลายื่นราคา คำรับรองว่าจะเริ่มทำงานตามสัญญาทันทีที่ได้รับแจ้งจาก ทอท. และจะส่งมอบงานตามเอกสารประกวดแบบภายในระยะเวลาที่กำหนด คำรับรองว่าจะเข้าทำสัญญากับ ทอท. ตามแบบและมอบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่ ทอท. ตามที่กำหนด


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
วสท. วิเคราะห์วิศวกรรม-ความปลอดภัยและข้อเสนอแนะเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ
"เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ" ... 'ดวงฤทธิ์' ลั่น! ออกแบบเอง 100%


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว