พาณิชย์เตรียมเปิดรับฟังความเห็น CPTPP ส่วนกลาง พรุ่งนี้ (19 ก.ย.)

18 ก.ย. 2561 | 08:30 น.
พาณิชย์เตรียมเปิดรับฟังความเห็น CPTPP ส่วนกลาง พรุ่งนี้ (19 ก.ย.) หลังจากที่จัดรับฟังความเห็นแล้วที่ชลบุรี เชียงใหม่ และสงขลา ฟุ้งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคประชาสังคม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การจัดสัมมนารับฟังความเห็นเรื่อง CPTPP ที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ เป็น 1 ในแผนรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการเข้าร่วมสมาชิก CPTPP ของไทย สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้แสดงความสนใจที่จะให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลดีผลเสีย และจัดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านประกอบการนำเสนอระดับนโยบาย ตัดสินใจเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทยต่อไป

"ในการสัมมนาที่กรุงเทพครั้งนี้ กรมฯ ได้เชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญจากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาครัฐ มานำเสนอข้อมูลภาพรวมความตกลง CPTPP และประเด็นปลีกย่อยต่าง ๆ ตั้งแต่การเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน ประเด็นเกษตร การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นด้านสาธารณสุข กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เข้าใจสาระสำคัญของความตกลง CPTPP ก่อนที่จะเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองทั้งในด้านประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับจากการเข้าร่วมสมาชิก CPTPP อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ กรมฯ มีแผนจะจัดสัมมนาอีกครั้งในวันที่ 26 ก.ย. ที่ จ.ขอนแก่น"


พาณ์ชย์เปิดความเห็น ปก

ทั้งนี้ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้าง ทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิก CPTPP ได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 ณ เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี ปัจจุบัน  สมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ คาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับต้นปี 2562 และหลังจากนั้นจะเปิดรับสมาชิกใหม่ ดังนั้น ภารกิจสำคัญของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คือ การศึกษาวิเคราะห์ ผลดี ผลเสีย ของการเข้าร่วม และจัดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อรวบรวมเสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป โดยปัจจุบัน ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อังกฤษ จีนไทเป (ไต้หวัน) และโคลอมเบีย เป็นต้น

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว