แม่ทัพไทยนำหัวเว่ยสู่เป้า

22 ก.ย. 2561 | 02:30 น.
18 ก.ย. 61

Work Hard, Work Smart

จากแบรนด์จีน ที่คนไทยหลายๆ ยี้ ปัจจุบันแบรนด์สมาร์ทโฟนหัวเว่ย (Huawei) กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ยอดนิยมที่ฮิตติดตลาด ด้วยเวลาเพียง 5-6 ปี หลังหัวเว่ยเปิดโอกาสให้ผู้บริหารคนไทย “ทศพร นิษฐานนท์” รองผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) ขึ้นนั่งตำแหน่งบริหารสูงสุด ตามนโยบาย  one plus one หรือ 1+1 ด้วยอำนาจการตัดสินใจเท่ากับผู้บริหารสูงสุดจากจีน

“ทศพร” เห็นโอกาสการเติบโตของหัวเว่ยตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยประสบการณ์ที่เคยสร้างแบรนด์เกาหลีใต้อย่างซัมซุง จนฮิตติดตลาดมาแล้ว ทำให้เขาสามารถเขียนเส้นทางการเติบโตของหัวเว่ยได้ไม่ยาก เพราะความถนัดของเขาคือการขายและการตลาด ช่องทางค้าปลีก และช่องทางการจัดจำหน่ายทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่หัวเว่ยต้องการ

610622 (21)

ผู้บริหารคนไทยคนนี้ เคยผ่านงานที่ซัมซุงมาแล้วกว่า 12 ปี โดย 5 ปีแรกอยู่เมืองไทย รับผิดชอบเกือบทุกส่วน ตั้งแต่มาร์เก็ตติ้ง เซล รีเทล ซัพพลายเชน หลังจากนั้นจึงย้ายไปเป็น Regional Project ที่เวียดนาม และไปเป็น
ฝ่ายกลยุทธ์ที่ฟิลิปปินส์ และเคยดูแลตลาด 12 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวัน มาแล้ว ด้วยโจทย์ที่ว่า ต้อง turnaround ธุรกิจ ค้นหาและแก้ไขจุดอ่อน หาจุดแข็งให้เจอ สร้างคน และจัดโครงสร้างองค์กรให้เดินหน้า

ตอนที่ “ทศพร” เข้ามาเริ่มบริหาร หัวเว่ยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงไม่ถึง 1% สินค้าหาไม่ค่อยได้ ซึ่งนั่นคือ จุดอ่อนที่หนึ่ง ที่ผู้บริหารคนนี้มองเห็น และก่อนหน้านี้ หัวเว่ยไม่เคยมีผู้บริหารคนไทย เพราะฉะนั้นการเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าคนไทยจึงมีไม่มาก ดังนั้น “ทศพร” จึงเข้ามาทำหน้าที่อุดรูรั่ว แก้จุดอ่อนทั้งหมด ด้วยการสร้างทีมบริหารในแต่ละส่วนขึ้นมา พร้อมผลักดันจุดแข็งทางด้านคุณภาพ และฟีเจอร์ของหัวเว่ย ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าคนไทยอยู่แล้ว ทั้งด้วยดีไซน์ฟังก์ชันการใช้งาน อาทิ กล้องเลนส์ไลก้า

ภารกิจที่เริ่มเข้ามาทำ ย้อนกลับไปที่ fundamental ที่ดีและแข็งแรงมาก มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง การ
ทำงานหนัก ทุ่มเท (Work Hard, Work Smart) ตั้งแต่ “เหริน เจิงเฟย” ผู้ก่อตั้ง และประธาน บริษัท Huawei เขามี customer centric มีอาร์แอนด์ดีกับอินโนเวชันที่แข็งแรงมาก ผมเชื่อว่าเขาสามารถทำสินค้าที่ออกมามีนวัตกรรมลํ้ากว่าคู่แข่ง แต่สิ่งที่ขาด คือ Basic Business

“เราเลยเริ่มสร้างจากฐานให้แข็งแรง ก่อนที่จะบิลต์ ผมเริ่มงานที่นี่ปี 2015 เป้าของเราคือ เบอร์ 1 ในปี 2020 ตอนนั้นคิดใหญ่ ฝันใหญ่ เพราะเราเห็นโอกาส และเราเห็นเหตุการณ์แบบนี้ซํ้าๆ เราเห็นว่าแบรนด์ที่มี แค่ 1 ดิจิต สามารถขึ้นมาได้”

สิ่งที่เริ่ม คือ การสร้างคน “ทศพร” เริ่มเซตทีม หาคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ มานั่งเป็น Functional Head วิธีการดึงคนเก่งๆ เข้ามาร่วมงาน คือให้พนักงานเป็นเหมือนศูนย์กลาง พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า บริษัทนี้เติบโตเร็ว ให้ผลตอบแทนดี พนักงานได้สิทธิถือหุ้น พนักงานจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ

ต่อจากการสร้างคน คือ “คู่ค้า” เป็นการสร้างช่องทางการขายที่แข็งแรง ทำให้ผู้บริโภคเดินไปหาซื้อสินค้าได้ มีความสะดวก โดยยึดความจริงใจ และซื่อสัตย์ ประโยชน์ที่ วิน วินทั้ง 2 ฝ่าย หลังจากนั้นคือการสร้างแบรนด์ช็อป เพราะถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการสร้างแบรนด์ และยกระดับแบรนด์สู่พรีเมียม จากการพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้การรับรู้แบรนด์เพิ่มจาก 60% เป็น 90% ในช่วงเวลา 2 ปี และความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น 40%

“turnaround ธุรกิจ เรารู้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง ทีม ช่องทาง แล้วค่อยไปทำเรื่องบริการ เราต้องเข้าใจ
Customer Journey เช่น การเปลี่ยนมาที่ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เราต้องเปลี่ยนช่องทางของเรามาเป็นออมนิ แชนเนล
การตลาดก็ต้องปรับอย่างรวดเร็ว เราต้องปรับตัวตลอดเวลาผมเองก็ต้องปรับตัวมาก เพราะ Landscape แบรนด์มันเปลี่ยน ตลาดมันเปลี่ยน”
ความท้าทายผู้บริหารหัวเว่ยในตอนนี้ นอกจากการสร้างส่วนแบ่งตลาดให้เพิ่มขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาดแล้ว ยังต้องทำแบรนด์ให้เป็นแบรนด์ที่คนรักมากที่สุด (Most Brand Love) โดยสิ่งที่จะนำไปสู่จุดนั้นได้ คือ นวัตกรรม ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับนวัตกรรม หัวเว่ยมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม หัวเว่ยเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็น Green Product แล้ว เช่น  วิธีการผลิตที่ลดสารตะกั่วให้มากที่สุด ไอทีต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป้าหมายคือสินค้าของหัวเว่ยทุกตัว ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ทศพร” บอกว่า เขาเป็นคนทำงานหนัก การทำงานของเขาใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ทำงานสร้างความเข้าใจทั้งกับคนไทยและต่างชาติ สุดท้ายมันคือ เรื่องการสื่อสารภายในองค์กร และการบริหารจัดการ ซึ่งทุกอย่างต้องดำเนินอยู่บนความซื่อสัตย์ ถ้าหัวเว่ยโต คู่ค้าก็ต้องเติบโตไปด้วยกัน

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3402 ระหว่างวันที่ 20 - 22 กันยายน 2561

23626556