ปัญหาหนี้โลกยังต้องจับตา 10 ปีหลังปิดตำนาน เลห์แมนบราเธอร์ส

20 ก.ย. 2561 | 08:38 น.
15 กันยายนเป็นวันครบรอบการล้มละลายของวาณิชธนกิจ เลห์แมนบราเธอร์ส ซึ่งในปี 2551 ถือเป็นวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก  ด้วยสินทรัพย์ 639,000 ล้านดอลลาร์และหนี้สิน 619,000 ล้านดอลลาร์ การยื่นฟ้องล้มละลายของเลห์แมนฯ ถือเป็นการปิดตำนานสถาบันการเงินที่มีอายุยาวนานถึง 158 ปี และทำให้โลกได้พบกับวิกฤติการเงินที่สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การล้มละลายของเลห์แมนฯ กลายเป็นโดมิโนทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้ระบบการเงินของสหรัฐฯ ปั่นป่วนและส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังระบบการเงินทั่วโลก

LM หลังเลห์แมนบราเธอร์สประกาศยื่นขอพิทักษ์ตามกระบวนการล้มละลายในวันที่ 15 กันยายน 2551 โลกได้เรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้น ความซับซ้อน และเกี่ยวโยงของตลาดพันธบัตร ตราสารหนี้ และการลงทุนในตลาดสินเชื่อซับไพรม์ ทำให้เกิดมาตรการกำกับควบคุมการดำเนินการของสถาบันการเงินอย่างเข้มงวดมากขึ้น มีการตรวจเช็กความแข็งแรงของสถานะทางการเงินของบรรดาธนาคารพาณิชย์ทั่วโลก เพราะไม่ว่าภายนอกจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม หากการบริหารจัดการผิดพลาด ก็ล้มครืนลงได้อย่างที่รัฐไม่อาจจะเข้าอุ้ม และเพื่อเป็นการคลี่คลายวิกฤติ และเรียกความเชื่อมั่นในตลาดการเงินกลับคืนมา ในครั้งนั้น ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอีกหลายแห่งทั่วโลก ต่างต้องเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบตลาดเงินโลกโดยรวมไม่ตํ่ากว่า 160,000 ล้านดอลลาร์

lehman-brothers-collapse

มาถึงวันนี้ เมื่อวาระครบรอบการปิดตำนานเลห์แมน บราเธอร์ส เวียนมาถึง มักจะมีการตั้งคำถามขึ้นเสมอว่า สถานะความแข็งแรงของระบบการเงินโลกนั้นหมดปัจจัยเสี่ยงเช่นในอดีตไปแล้วหรือยัง และยังมีสิ่งใดเป็นปัญหาที่ควรจับตาระวังระไว นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นว่า แม้จะมีการวางกลไกในเชิงป้องกันไว้มากขึ้นเพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งสถาบันการเงินของสหรัฐฯก็มีความแข็งแรงมากขึ้นจากแนวทางแก้ไขวิกฤติซับไพรม์ในอดีต รวมทั้งความแข็งแรงทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่โลกอาจจะต้องพบกับวิกฤติครั้งใหม่ในระบบการเงิน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่ภาวะหนี้สินทะยานสูงขึ้นในทุกๆ ภูมิภาค เมื่อประกอบกับแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ทิศทางปรับตัวสูงขึ้น นั่นก็ยิ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมพุ่งทะยานตามไปด้วย และทำให้ปัญหาหนี้เป็นภัยคุกคามที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ชาร์ลส์ บีน อดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ให้ความเห็นว่า มีกลไกป้องกันภัย(ทางการเงินการธนาคาร) เกิดขึ้นมากมายหลังเหตุการณ์วิกฤติการเงินในครั้งนั้น ซึ่งทำให้ระบบสถาบันการเงินในปัจจุบันมีกลไกรองรับความเสี่ยงมากขึ้น มีทุนสำรองประกันความเสี่ยงมากขึ้น และเมื่อประกอบกับการสอดส่อง กำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ก็น่าจะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการล่มสลายของธนาคารได้มากขึ้นหากเกิดเหตุวิกฤติการเงินขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยโลกที่กำลังขยับสูงขึ้น และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งขึ้น การบริหารจัดการหนี้เป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีการกู้ยืมในรูปเงินดอลลาร์เป็นมูลค่าสูง

............................................................................................................

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,402 ระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน 2561

e-book-1-503x62-7