"เหล็กเกรดต่ำ" ทะลัก! หนีมะกันแห่เข้าไทย

17 ก.ย. 2561 | 13:21 น.
170961-2003

ผู้ผลิตเหล็กในประเทศรับกรรมสงครามการค้า! ส่วนแบ่งการตลาดสินค้าเหล็กจากผู้ผลิตไทยมีเพียง 30% ขณะที่ ยอดนำเข้าพุ่ง 70% ห่วงเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสียอดนำเข้าทะลุหลักแสนตัน หวั่นผู้บริโภคใช้ของไม่ได้มาตรฐานระบาดเกลื่อน

สงครามการค้ามีทั้งผลบวกและผลลบต่อประเทศไทย
 โดยเฉพาะผลจากมาตรา 232 จากสหรัฐอเมริกา ที่พ่นพิษไปทั่วโลกในอุตสาหกรรมเหล็ก ทางหนึ่งสร้างโอกาสให้ทุนจากหลายประเทศมุ่งหน้ายึดไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก บางสินค้าไทยก็สามารถส่งออกได้มากขึ้น ในขณะที่บางประเทศกลับเสียโอกาส และอีกด้านบางประเทศส่งสินค้าไปขายในอเมริกายากขึ้น ก็หันหัวเรือส่งเข้ามาขายในประเทศไทย จนผู้ผลิตไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะยังไม่ได้รับการคุ้มครองปกป้องด้วยมาตรการต่าง ๆ อย่างเพียงพอ

ล่าสุด สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า ข้อมูลการผลิตและการบริโภคเหล็กของไทยช่วงครึ่งปีแรก หรือในช่วงเดือน ม.ค. ถึง มิ.ย. 2561 ไทยมีการบริโภคเหล็กทั้งสิ้น 8.56 ล้านตัน แบ่งเป็น เหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น เหล็กรูปพรรณรีดร้อน เหล็กลวดฯ รวม 2.74 ล้านตัน และที่เหลือเป็นเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน รีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบต่าง ๆ รวมถึงท่อเชื่อมฯ คิดเป็น 5.82 ล้านตัน


GP-3401_180917_0001

สอดคล้องกับที่ นายพงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศเป็นกังวลว่า แม้จะมีการบริโภคเหล็กในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ รวม 8.56 ล้านตัน แต่ผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศมีการใช้กำลังการผลิตเพียง 39% จากความสามารถของเครื่องจักรที่มีอยู่ ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น คือ เมื่อมองส่วนแบ่งการตลาดระหว่างเหล็กที่ผลิตได้ในประเทศกับเหล็กนำเข้า กลับพบว่า ภาพรวมส่วนแบ่งการตลาดสินค้าเหล็กที่บริโภคภายในประเทศไทยนั้น เป็นเหล็กที่ผลิตในประเทศ มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงแค่ 30% ขณะที่อีก 70% เป็นเหล็กที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากจีน

นอกจากนี้ เมื่อโฟกัสมาที่ชนิดของเหล็ก พบว่า ส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่มเหล็กทรงแบนที่ผลิตได้ในประเทศต่ำกว่า 30% โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ที่ปริมาณนำเข้าจากเมื่อ 4-5 ปีก่อน อยู่ที่ประมาณเดือนละ 3-4 หมื่นตัน ปัจจุบัน การนำเข้าทะลุหลักแสนตันต่อเดือนไปแล้ว

 

[caption id="attachment_318750" align="aligncenter" width="331"] พงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี พงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี[/caption]

นายพงศ์เทพ อธิบายให้ผู้บริโภคเหล็กเข้าใจด้วยว่า เหล็กไม่เหมือนอาหารที่ผู้บริโภครับเข้าสู่ร่างกายโดยตรง อาหารดีหรือไม่ดี บางทีผู้บริโภคมองด้วยตาก็พอรู้ หรือถ้าไม่รู้หลังจากรับประทานเข้าไปก็รู้ เลยมีการสกรีนระหว่างผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้บริโภค กันไปในตัว ขณะที่เหล็กไม่ได้เป็นแบบนั้น มีช่องว่างของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับตัวสินค้าอยู่มาก ที่ผู้บริโภคส่วนมากไม่ทราบข้อเท็จจริง และยังต้องไปใช้ประกอบกับสินค้าอื่น เช่น เหล็กเส้นก็ต้องไปอยู่คอนกรีตผสมเสร็จ เราซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม ก็เห็นตอนที่เสร็จแล้ว เมื่อมีปัญหาการพิสูจน์ว่า ใช้เหล็กไม่ได้คุณภาพก็เป็นเรื่องของผู้ชำนาญการเท่านั้น

นอกจากนี้ โดยมากผู้เลือกสินค้าเหล็กมักเป็นผู้รับเหมากับเจ้าของโครงการ ไม่ใช่ผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ทำให้เห็นสภาพสินค้าเหล็กในตลาดของไทย และที่น่าเป็นห่วงมาก คือ ในตลาดมีทั้งเหล็กเส้นชนิดเต็มตามมาตรฐาน มอก. เหล็กเส้นชนิดเบา (ไม่ได้ตามมาตรฐาน) เหล็กแผ่นเคลือบบาง ๆ และกลุ่มสินค้าเหล็กที่ปริมาณหรือน้ำหนักสินค้าไม่ตรงกับป้ายที่ระบุไว้ เช่น ตะปู ลวด ผูกเหล็ก ลวดหนาม ลวดชุบ ซึ่งยังเป็นปัญหาเดิมที่ยังแก้ไขไม่ได้


appchina-steel

นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เริ่มมีสงครามการค้า โดยสหรัฐอเมริกา จุดประเด็นจากสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม ก็ยิ่งมีผลให้สินค้าเหล็กเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ก็ทยอยเข้ามาต่อเนื่องอยู่แล้ว การนำเข้ามาหลายกรณีเป็นการดัมพ์ราคาเข้ามา ภาครัฐสกัดได้บ้าง ก็ตอบโต้ในรูปแบบมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) หรือ มาตรการป้องกัน (Safeguard) บางสินค้าก็ยังสกัดไม่ได้ เช่น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (Gi) ขณะที่ผู้นำเข้าก็มีกลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่อผลักดันสินค้าเข้ามาในไทยในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น ทั้งการเจือสารต่าง ๆ เพียงเล็กน้อย เพื่อหลบเลี่ยงพิกัดที่มีมาตรการตอบโต้ ที่แย่ไปกว่านั้น คือ การผลิตสินค้าในคุณภาพที่ไม่ตรงกับป้ายที่ระบุ พบมากในกลุ่มเหล็กแผ่นเคลือบต่าง ๆ เช่น ระบุชั้นคุณภาพเคลือบสังกะสีที่ 60 กรัมต่อตารางเมตร (Z6)

"ของจริงเมื่อนำไปทดสอบเหลือเพียง 20 กรัมต่อตารางเมตร (Z2) เช่นเดียวกับกลุ่มเคลือบอลูซิงค์ ที่ผิดเพี้ยนจากป้ายที่ระบุชั้นคุณภาพลงไปครึ่งหนึ่ง คือ จาก 70-80 กรัมต่อตารางเมตร เหลือเพียง 30-40 กรัมต่อตารางเมตร คุณภาพชั้นเคลือบที่หายไปครึ่งหนึ่งมีผลให้ต้นทุนถูกกว่าคุณภาพชั้นเคลือบที่เต็มตามมาตรฐาน แต่ผู้บริโภคจะได้รับสินค้าที่มีอายุการใช้งานสั้นลงมากและสินค้าไม่ได้มาตรฐาน"


apptp4-3187-a-1414

อย่างไรก็ตาม เหล็กเป็นเรื่องที่ทุกชาติให้ความสำคัญ จะเห็นว่าก่อนหน้านั้น นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ถึงกับพูดว่า "ไม่มีเหล็ก ก็ไม่มีชาติ" พออเมริกามีมาตรการด้านเหล็กออกมา กลุ่มยุโรป และยูเรเซีย ก็มีมาตรการตอบโต้ด้านเหล็กในทันทีเช่นกัน แต่เมื่อกลับมามองที่ประเทศไทย นอกจากมีการพัฒนาในอุตสาหกรรมเหล็กที่ช้ามากแล้ว ที่เลวร้ายกว่านั้น คือ ผู้บริโภคต้องมารับกรรม เพราะมีเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพวางขายอยู่ทั่วไป โดยที่รัฐบาลยังไม่สามารถลงไปแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,401 วันที่ 16-19 ก.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ตุรกียื่นฟ้องสหรัฐฯ ต่อ WTO กรณีขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม
2 กฎเหล็กกรมขนส่ง เข้มใบรับรองแพทย์ขอใบขับขี่รถ ‘บิ๊กไบค์’ ต้องผ่านการอบรม


เพิ่มเพื่อน
23626556