ผุดโครงการ "บิสซิเนส บราเดอร์ ฮูด" ปั้นทีมนักศึกษาสู่วงการ "สตาร์ตอัพ"

17 ก.ย. 2561 | 10:42 น.
สวทน. รับไม้ต่อจากนโยบายรัฐบาล "ไทยแลนด์ 4.0" จับมือสถาบันพระจอมเกล้าฯ จัดโครงการ "บิสซิเนส บราเดอร์ ฮูด" ปั้นทีมนักศึกษาสู่วงการสตาร์ทอัพ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า "จากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานสำคัญ ทาง สวทน. จึงเป็นผู้จัดการ บริหาร โครงการสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นหลาย ๆ โครงการ บิสซิเนส บราเดอร์ ฮูด (Business Brotherhood Project) นั้น เป็น 1 ในโครงการที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงและขยายตลาดไปสู่ระดับโลกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงทางธุรกิจ และมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ และมี สวทน. เป็นแกนหลักในการผลักดันให้เกิดกระบวนการพัฒนาโครงการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยและธุรกิจสตาร์ทอัพของประเทศไทยในอนาคต สวทน. เห็นว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ทั้งนักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งในการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ ๆ หรือ สตาร์ทอัพ ให้สามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วและขยายตลาดไปสู่ระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีเครือข่ายของกิจการขนาดใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยง เทคโนโลยี และเครือข่ายการค้าระดับโลกจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพมีโอกาสเติบโตและประสบความสำเร็จสูงขึ้น"

ทางด้านสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำโดย อาจารย์ ดร.รัชนี กุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงได้เปิดโครงการบิสซิเนส บราเดอร์ ฮูด (Business Brotherhood Project) ขึ้น มีวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ เร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ โดยเป็นความร่วมมือจากทางภาครัฐและเอกชน ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่ว ๆ ไป หรือ ใน 1 ทีม จะเป็นการรวมตัวกันมากกว่า 1 สถาบันก็ได้ ทีมหนึ่งกำหนดให้ได้จำนวนสมาชิกในทีม 3-5 คน โดยมีหลักเกณฑ์ในการตัดสิน คือ ภาพรวมของโมเดลธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์ของผลงาน ปัจจุบัน ภาพรวมของการเรียนการสอนในสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะเป็นการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แต่เมื่อนักศึกษาได้เข้าร่วมโครงการแล้วจะได้รับการอบรมในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การออกแบบความคิด (Design Thinking) การออกแบบธุรกิจ การวางแผนธุรกิจ การวางแผนการตลาด การดำเนินงานและเทคนิคการนำเสนองานให้น่าสนใจ จากผลงานที่ของน้อง ๆ นักศึกษา ที่เข้ามาร่วมในโครงการ มี 7 ทีม ที่เข้ารอบ มีทั้งด้านโลจิสติกส์ อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (IOT) ไลฟ์สไตล์ และสุขภาพ ทุกโครงการล้วนน่าสนใจ

ทีมทีไบค์เป็นทีมที่ให้ยืมหรือให้เช่าจักรยานผ่านแอพพลิเคชัน เพราะต้องการให้ทุกคนในมหาวิทยาลัยมีจักรยานขี่ระหว่างตึกโดยที่ไม่ต้องเดิน


t bike 4[19206]

นายพิสิษฐ์ ดวงดีกมลทัศน์ บัณฑิตจากวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า "พอเห็นว่าเห็นประกาศ ก็รู้สึกว่าน่าสนใจ ซึ่งจริง ๆ ทางเราก็พัฒนาระบบมาเรื่อย ๆ อยู่แล้ว ถ้าพวกเราผ่านเข้าไปในโปรแกรมนี้ได้ ก็จะได้เข้าโปรแกรม Accelerator และคิดว่าจะได้ประสบการณ์ที่ดี ได้รู้จักคนเพิ่มขึ้น ได้เปิดโอกาสให้ตัวเอง จากการเข้าเทรนด์กับโปรแกรมนี้ เลยรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ 3 คน นายอรุษ จินะดิษฐ์, นายสุพสิษฐ์ จิวะพงศ์ คณะวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อเข้าร่วมโครงการ ทีมเรามองเรื่องการขี่จักรยานในมหาวิทยาลัยในเบื้องต้น เลยใช้ชื่อโครงการว่า ที ไบค์ (T Bike) ชื่อนี้ได้มาจากที่ปรึกษาของโครงการ ตัว T มาจากคำว่า เทคโนโลยี พอมาออกแบบให้เป็นโลโก้ก็เลยนำมาเปรียบเสมือนกับแฮนด์จักรยาน

สุพสิษฐ์ จิวะพงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า "ที่มาแนวคิด อยากจะแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางระหว่างตึกในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ คนส่วนมากก็จะใช้รถยนต์ หรือ รถมอเตอร์ไซค์ ในการเดินทาง ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งยังสร้างมลพิษ แต่ในบางทีระยะทางนั้นก็ไม่ได้ไกลมากขนาดที่จะต้องใช้รถ ในขณะเดียวกันก็อาจจะไกลเกินกว่าที่จะเดินก็ได้ เลยคิดว่าจักรยานเป็นทางออกที่ทำให้ไม่ต้องเดิน และไม่ต้องใช้รถยนต์ หรือ รถมอเตอร์ไซค์ ก็เลยคิดวิธีการเอาจักรยานมาให้ทุกคนยืม และใช้เวียนกัน หรือคิดว่า ทุกคนใช้จักรยานได้จะดีกว่าเดิน ถ้าไม่มีระบบที่เราเรียกว่า T Bike จะยากในการบริหารจัดการ

แต่พอเราคิดระบบ คิดวิธีการยืมและคืน ก็จะทำให้แนวคิดที่ให้ทุกคนในมหาวิทยาลัยจะมีจักรยานขี่ระหว่างตึกเป็นไปได้ง่ายขึ้น ด้วยวิธีการที่ ทางทีมทีไบค์เอาจักรยานที่ใช้อยู่ในคณะมาใช้ร่วมกับระบบแอพพลิเคชันที่เราพัฒนาขึ้น ทำให้ที่ สจล. สามารถใช้จักยานด้วยกันได้ทั้งสถาบันด้วยวิธีการดาวน์โหลดแอพพลิเคชันทีไบค์ (T-Bike) นี้ก่อน รุ่นแรกจะเป็นการสแกนคิวอาร์โค้ดบนจักรยาน แล้วจะได้รับรหัสผ่านจากแอพพลิเคชันเพื่อปลดล็อค คนที่มาสแกนคิวอาร์โค้ด ก็เอาจักรยานไปใช้ได้เลย กำหนดระยะให้ใช้เวลา 1 ชั่วโมง และสามารถคืนจักรยานจุดไหนก็ได้ และเป็นการทำให้คนอื่นได้มาร่วมใช้งานด้วย ผู้ใช้งานสามารถหาจุดที่จักรยานจอดอยู่ผ่านแอพพลิเคชันนี้ได้ด้วย

นายพิสิษฐ์ ดวงดีกมลทัศน์ กล่าวต่อว่า "โครงสร้างของแอพพลิเคชันนี้ จะมีแผนที่ ปุ่มกดยืม เพื่อสแกนคิวอาร์โค้ด มีปุ่มให้ผู้ยืมดูข้อมูลว่า ผู้ยืมขี่จักรยานไปไหนบ้าง ต่อมาได้มีการปรับปรุงแอพพลิเคชันและตัวล็อคใหม่ โดยจะเป็นล็อคอัตโนมัติ คือ หลังจากที่แสกนคิวอาร์โค้ดแล้ว แทนที่จะส่งรหัสแบบเดิม ตัวล็อคจะปลดล็อคเองอัตโนมัติ ผู้ใช้งานก็สามารถขี่ไปที่ไหนก็ได้ พอจะคืนก็แค่ดันล็อคกลับเหมือนเดิม แล้วกดปุ่มคืนจักรยาน ก็ถือว่าการยืมเสร็จสิ้น จุดเด่น คือ อำนวยควานสะดวกให้กับเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำในมหาวิทยาลัยไหนมาก่อน"

การพัฒนาในอนาคต เพื่อให้ระบบเราเริ่มใช้งานให้ได้เร็วที่สุด ขณะนี้เราเลือกที่จะใช้ตัวล็อค OEM ส่วนตัวจักรยาน ทางด้านอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ออกแบบจักรยานและร่วมมือกับ แอล เอ ไบค์ จนมีโปรโตไทป์เกิดขึ้นมา และจะขยายไปในพื้นที่อื่นด้วย เช่น หมู่บ้านจัดสรร พื้นที่ท่องเที่ยว และมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้มีบริการเช่นนี้ โมเดลรายได้จะมีค่าเช่า ค่ายืม ค่าโฆษณา


3. t bike in ter face 2[19212]

"เมื่อได้ร่วมโครงการนี้แล้ว ทำให้ได้รู้จักคนเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ผ่านเข้ารอบมาด้วยกัน พอได้คุยก็เหมือนกับว่าได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้เห็นไอเดียใหม่ ๆ ยังไม่รวมเมนเทอร์ (Mentors) ที่มาบรรยายในแต่ละเวิร์คช็อป แต่ละสัปดาห์ เมนเทอร์แต่ละคนเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มาก สามารถให้คำแนะนำและชี้แนะได้เป็นอย่างดีในการทำธุรกิจ ทำให้เราได้เปิดมุมมองอีกหลาย ๆ มุม ที่อาจไม่เคยเห็น ติดตามความคืบหน้าของโครงการได้ที่แฟนเพจ https://www.facebook.com/bikeisara"

โครงการบิสซิเนส บราเดอร์ ฮูด (Business Brotherhood Project) ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 มีนักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบ 13 ทีม และเหลือ 7 ทีม มีที่ปรึกษาจากบริษัทเอกชนทั้งหมด 7 ท่าน และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 15 ท่าน
โครงการที่เข้ารอบ 7 ทีม ประกอบไปด้วย 1.ทีมทีไบค์ (T-Bike) เป็นทีมที่เกี่ยวข้องการการให้ยืมรถจักรยานด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด ช่วงเวลานี้มีให้บริการในมหาวิทยาลัย ในอนาคตอาจขยายไปที่มหาวิทยาลัยอื่น หมู่บ้าน, ทีมที่ 2 ทีมเพียวริแอร์แคน เป็นเครื่องฟอกอากาศขนาดพกพา ที่เลือกกรองอากาศได้ มีความพิเศษและไม่เหมือนใครอยู่หลายประการ เช่น สามารถเชื่อมต่อได้ทั้งบลูธูทและไวไฟ, ทีมที่ 3 ทีมมูฟเวอร์ เป็นแอพพลิเคชันที่สร้างขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับบุตรหลานที่ขึ้นรถโรงเรียน สามารถวางเส้นทางการขับขี่และตรวจสอบเส้นทางเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองรู้ว่าบุตรหลายอยู่จุดใด, ทีมที่ 4 เพอเพิล คัพ เป็นแอพพลิเคชันด้านไลฟ์สไตล์ ที่เกี่ยวกับผู้ที่ชอบดื่มกาแฟแบบเฉพาะเจาะจงรสชาติ จะช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่ร้านกาแฟที่มีคุณภาพและหายาก หากทางร้านมาร่วมกิจกรรมกับแอพพลิเคชันนี้จะมีโอกาสเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นและมีโอกาสเพิ่มยอดขาย, ทีมที่ 5 ทีม สเตชั่น อะเลิต เป็นทีมที่แก้ปัญหาเกี่ยวกับการที่ผู้โดยสารเล่นมือถือจนนั่งรถเลยสถานี จึงให้มีระบบการแจ้งเตือนก่อนจะถึงสถานีปลายทาง, ทีมที่ 6 ทีมเกิตเทิล จะเป็นผู้จัดการเรื่องการแข่งขันเกมส์ แพลตฟอร์มที่จะช่วยทำให้การจัดการแข่งขันอี-สปอร์ต (e-Sport) ได้ไม่ยุ่งยาก จะทำให้ทุกอย่างของการแข่งขันเกมส์ครบจบในที่เดียว และทีมที่ 7 ทีมโคดิ จะเป็นทีมที่ส่งผลงานด้านการเว็บไซต์โปรแกรมอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (Internet of Things : IOT) พร้อมสำหรับนำไปใช้งานได้จริง โดยผู้ใช้งานไม่ต้องเขียนโปรแกรมขึ้นมาเองให้เสียเวลา เหมาะที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการลดเวลาการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพของงาน IOT ผลงานทั้งหมดมีความสนใจและพร้อมที่จะต่อยอดไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในวงกว้าง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว