'บินไทย' จ่อเพิ่มทุน 2 หมื่นล้าน ซื้อฝูงบิน!!

17 ก.ย. 2561 | 10:59 น.
170961-1744

บอร์ดบินไทยไล่บี้ 'สุเมธ' เร่งทำแผนการเงิน ซื้อฝูงบินใหม่ 23 ลำ แสนล้าน ชี้! เพิ่มทุนหรือออกหุ้นกู้ ต้องไม่เพิ่มภาระหนี้สินต่อทุนมากเกินไป ด้าน นักวิเคราะห์ เผย เพิ่มทุน 1.5-2 หมื่นล้าน เหมาะสม

แผนการจัดซื้อฝูงบินใหม่ 23 ลำ ของการบินไทย มูลค่าแสนล้านบาท เพื่อทดแทนเครื่องบินที่จะปลดระวาง 28 ลำ ต้องสะดุดลง หลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตีกลับให้ฝ่ายบริหารไปจัดทำแผนรายละเอียดเพิ่มเติมมาใหม่ โดยเป็นห่วงว่า การจัดซื้อเครื่องบินใหม่ล็อตนี้จะไปเพิ่มภาระหนี้สินต่อทุนของบริษัทมากจนเกินไป


AppP1-2-3099

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้บอร์ดการบินไทยได้มอบหมายให้ นายสุเมธ ดำรังชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) และรักษาการซีเอฟโอ เร่งทำแผนการเงินเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสม ภายใต้โจทย์ที่ว่าการลงทุนที่เกิดขึ้น จะไม่เป็นการเพิ่มหนี้สินต่อทุนของการบินไทยจนมากเกินไป เนื่องจากที่ผ่านมามีผลดำเนินการขาดทุน โดยแผนดังกล่าวจะเป็นการต่อยอดกับแผนฟื้นฟูเดิม ซึ่งสิ่งแรกที่จะต้องเร่งดำเนินการและต้องทำให้ได้ คือ การเร่งเพิ่มรายได้ เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดให้การบินไทยมีกำไร แต่ถ้ากระแสเงินสดยังไม่ได้ตามแผนการใช้เงิน เมื่อถึงเวลาซื้อเครื่องบินใหม่ ยังไงก็คงต้องออกหุ้นกู้ หรือ หาทุนเข้าเพิ่ม ซึ่งเงินที่ใช้ในการซื้อเครื่องบินไม่ได้จ่ายก้อนเดียว แต่เป็นการทยอยจ่ายมัดจำ ตามระยะการรับมอบเครื่องบิน


GP-3401_180917_0026

โยน "ดีดีใหม่" ตัดสินเพิ่มทุนหรือไม่
"ดีดีจะเป็นคนประเมินและตัดสินใจว่าจะใช้แหล่งเงินโดยวิธีใด ต้องเพิ่มทุนหรือไม่ หรือออกหุ้นกู้ ตามที่ผู้ถือหุ้นเคยอนุมัติไว้ว่า การจัดหาฝูงบินใหม่จะเสนอขายหุ้นกู้ และ/หรือตราสารหนี้ จำนวน 8 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) สำหรับนำไปใช้คืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด และ/หรือใช้คืนหุ้นเงินกู้ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้ในปี 2561 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ปี 2562 วงเงิน 9 พันล้านบาท ปี 2563 วงเงิน 6 พันล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 6 พันล้านบาท และปี 2565 วงเงิน 9 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่า เครื่องบินลำแรกจะรับมอบได้ต้นปี 2563"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนแผนระยะสั้นที่จะต้องดำเนินการในช่วงไตรมาส 3 และ 4 คือ การเพิ่มรายได้จากการขาย ผลักดันการขายผ่านเว็บไซต์ให้มากขึ้น ทั้งขยายฐานรายได้ เพื่อทำให้ผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 3 ดีขึ้น หรือ ขาดทุนนิดหน่อย และมีกำไรในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้การบินไทย


appTHAISmile

"ไทยสมายล์-นกแอร์" ตัวถ่วง!
"ปัญหาการขาดทุนการบินไทยไม่ได้อยู่ที่การดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา การบินไทยมีผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจ (Operating Profit) โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจการบินอยู่ที่ 1.02 พันล้านบาท ดีขึ้นจากปีก่อน 41.8% แต่ที่ยังขาดทุน เกิดจากการขาดทุนของไทยสมายล์ ขาดทุนสะสมร่วม 6 พันล้านบาท และนกแอร์ ที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 21% ซึ่งการบินไทยกำลังจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือไทยกรุ๊ป เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนและทำแผนเชื่อมโยงเส้นทางบินให้เสริมธุรกิจซึ่งกันและกันมากกว่าที่เป็นอยู่" แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนแผนการหารายได้เพิ่มจากเว็บไซต์ภายใน 3 เดือนนับจากนี้ คาดจะทำรายได้ในราว 1,300 ล้านบาท ส่วนการหารายได้เสริม (Ancillary Products) จะมาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ของการบินไทย เช่น การบริการซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่มเติม กับส่วนที่ทำร่วมกับคู่ค้า เช่น บริการจองโรงแรม บริการรถเช่า รถรับส่งสนามบิน บริการประกันภัยการเดินทาง การจองตั๋วรถไฟ และบริการจองตั๋วกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ฯลฯ โดยทำการจองผ่านเมนู More Service อีกทั้งในช่วงปลายปีนี้ มีทั้งการออกบัตรกีฟต์เวาเชอร์ ซื้อไปเป็นของขวัญช่วงปีใหม่ ใช้สำหรับซื้อตั๋วเครื่องบินหรือผลิตภัณฑ์ของการบินไทย การออกแวลูแพก สำหรับเส้นทางบินในประเทศ เพื่อหาเงินสดเข้ามาเสริมธุรกิจอย่างเร่งด่วน


app-THAILAND_AIRPORT_BK102

แนะตั้งโฮลดิ้งแยกบริษัทลูก
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวเสริมว่า โจทย์ที่รัฐบาลและ สศช. มอบหมายให้การบินไทยไปพิจารณาเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะใช้ในการซื้อฝูงบินใหม่ ว่า ทำอย่างไรไม่ให้มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินโดยรวมของบริษัท เพราะในไตรมาส 2 บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 281,956.05 ล้านบาท แต่มีหนี้สินรวม 250,634.72 ล้านบาท และหนี้สินต่อทุนในระดับสูงถึง 8.03 เท่า จึงให้การบินไทยไปหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินต่อทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการจัดซื้อฝูงบินใหม่ เช่น การเพิ่มทุน การออกวอร์แรนต์ หรือ ออกหุ้นกู้

ขณะเดียวกัน ได้ให้แนวทางการบินไทยจัดทำแผนแก้ปัญหาขาดทุนบริษัทลูก ทั้งไทยสมายล์และนกแอร์ รวมทั้งจัดทำแผนการปรับโครงสร้างองค์กร แผนการจัดหารายได้ของแต่ละธุรกิจให้ชัดเจน โดยได้เสนอแนวทางให้มีการแยกธุรกิจต่าง ๆ ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทลูก โดยที่การบินไทยทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้ง เหมือน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน โดยการบินไทยจะต้องจัดทำรายละเอียดต่าง ๆ เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ สศช. พิจารณาในวันที่ 10 ต.ค. 2561

นักวิเคราะห์ ประเมินว่า หากรัฐบาลไม่ต้องการให้การจัดซื้อฝูงบินใหม่ของการบินไทยไม่ส่งผลกระทบต่อหนี้สินต่อทุนของบริษัท และระดับหนี้ต่อทุนอยู่ในระดับที่เหมาะสม เบื้องต้น การบินไทยต้องหาทุนเพิ่ม 15,000-20,000 ล้านบาท

IFRS กระทบ THAI ซื้อฝูงบิน! โบรกมองเพิ่มความเสี่ยงหนี้ในอนาคต


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,401 วันที่ 16-19 ก.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การบินไทยยกเลิกไฟล์ต กรุงเทพฯ-ฮ่องกง เหตุพายุไต้ฝุ่นมังคุด
บินไทยพร้อมบินโอซากาหลังท่าอากาศยานคันไซเปิดให้บริการ14 ก.ย.นี้


เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62-7