"กรณ์" โต้เปลว สีเงิน "คิดมานานเเล้วเรื่องปตท."

15 ก.ย. 2561 | 15:42 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

50935973 นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Korn Chatikavanij ถึงเปลว สีเงิน คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เพื่อชี้แจงกรณีที่ เปลว สีเงิน เขียนคอลัมน์วิจารณ์การออกมาเดินสายคัดค้านกลุ่ม PTT ซื้อกิจการ GLOW ชื่อเรื่องว่า 'กฎหมาย' กับ 'แบรนด์ไทย' เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561 โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้

เรียนคุณเปลวที่เคารพ

ผมได้อ่านที่คุณเปลวเขียนวิจารณ์แนวคิดผมเรื่องปตท. แล้ว และเคารพในมุมคิดที่ต่างกันในเรื่องนี้ และเนื่องจากผมมองว่าหลักการของเรื่องนี้มีความสำคัญ ผมจึงขออนุญาตอธิบายเผื่อว่าคุณเปลวอาจจะเข้าใจผมมากขึ้น

สังคมเราพูดกันเยอะเรื่องโอกาสการทำมาหากินของชาวบ้าน เรื่องอิทธิพลทุนใหญ่ และเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งสำหรับผมหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านี้คือการมีระบบการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม และศัตรูของความเป็นธรรมคือ ‘ระบอบอุปถัมภ์’ ที่เอื้อทั้งกับทุนใหญ่เอกชนและกับหน่วยงานของรัฐ ระบอบนี้ถูกเสริมอย่างเป็นระบบผ่านหลักสูตรต่างๆที่แย่งชิงกันเข้าเรียน ไม่ว่าจะเป็น วปอ. วตท. หรือ วพน. (ที่มีปตท. เป็นโต้โผใหญ่)

ประเทศไทยเรามีครบทุกกลไกที่จะกำกับให้การแข่งขันเป็นธรรม แต่ก็พบกับปัญหาเดิมๆคือความล้มเหลวในการบังคับใช้ เรามีกฎหมาย พรบ. การแข่งขัน (ที่ไม่เคยมีการบังคับใช้แม้แต่ครั้งเดียว) เรามีคณะกรรมการชุดต่างๆ (เช่น กกพ. และกสทช.) ซึ่งคุณเปลวก็รับทราบดีอยู่แล้วว่ามีปัญหาอย่างไรมาแทบทุกยุคทุกสมัย และเราก็มีรัฐธรรมนูญที่ผมได้อ้างถึงโดยมาตรา ๗๕ ห้ามรัฐทำธุรกิจแข่งกับเอกชน แต่ก็ปรากฏว่านับวัน ‘ความเสมอภาค’ ในการแข่งขันก็ดูเหมือนมีแต่จะแย่ลง

ดังนั้นผมจึงได้ยื่นร้องเรียนต่อท่านนายกฯเพราะปัญหานี้เป็นปัญหาระดับนโยบาย หากเราเอาจริงกับการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เสรีและเป็นธรรม เราต้องเริ่มกับหน่วยงานของรัฐเอง
blue_logo ในประเด็น GPSC ซื้อ Glow นั้น ไม่ได้เป็นเพียงผมที่แสดงความกังวลต่อการผูกขาดที่จะเกิดขึ้น กลุ่ม SCG รวมไปถึงผู้ประกอบการในนิคมมาบตาพุดอีก 10 รายได้ถึงกับทำหนังสือร้องเรียนถึง กกพ. และรัฐบาลให้ระงับแผนการซื้อหุ้นโดยปตท. ซึ่งประเด็นที่เขาร้องเรียนคือเขาจะถูกบังคับให้มีสภาพที่ต้องจำยอมเป็นลูกค้าของคู่แข่ง (คือปตท.)

คุณเปลวอาจจะบอกว่า GPSC ไม่ใช่ปตท. และได้พูดถึงสัดส่วนหุ้น 22% ที่ถือโดยปตท. แต่คุณเปลวมองข้ามอีก 50% ที่ถือโดยบริษัทลูกของปตท. (ซึ่งทำให้ปตท. มีสิทธิกว่า 50% ในผลประกอบการของ GPSC) และที่สำคัญคือผู้บริหาร GPSC ล้วนเป็นคนของปตท. ทั้งสิ้น

หากเรายอมให้รัฐวิสาหกิจเลี่ยงความรับผิดชอบทางกฎหมายด้วยการตั้งบริษัทลูกแล้วถือไขว้กันไปมาแบบนี้ ผมว่ามาตรา ๗๕ ในรัฐธรรมนูญก็ควรต้องลบทิ้งไป และหลักการ ‘รัฐไม่ควรแย่งประชาชนหากิน’ ก็ไม่ต้องพูดถึงอีกด้วย 20170808GPSC ส่วน PTT OR (เจ้าของร้านกาแฟ) ที่คุณเปลวบอกว่า ปตท. ถือหุ้นเพียง 45% นั้น ขอเรียนว่าไม่ใช่นะครับ ขณะนี้ปตท. ยังถือหุ้นอยู่ 100% เต็ม เป็นรัฐวิสาหกิจเต็มตัว (แต่มีแผนจะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์)

ส่วนประเด็นที่คุณเปลวเขียนเป็นนัยความกังวลว่าไฟฟ้าในอนาคตจะไม่พอ ผมขอเรียนว่าปัญหาบ้านเราส่วนหนึ่งตอนนี้คือกำลังผลิตที่มากเกินไป และจะมากขึ้นเรื่อยๆไปอีกหลายปี ซึ่งเป็นเหตุจากการประมาณการความต้องการที่คลาดเคลื่อนในอดีต ไม่เชื่อลองถาม Glow ดูได้ครับว่ากฟผ. รับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเขาเท่าไรในช่วงปีที่ผ่านมา (ผมตอบให้ก็ได้ครับ - กฟผ. รับซื้อไม่ถึง10% ของกำลังผลิตโรงไฟฟ้าก๊าซของ Glow เพราะความต้องการใช้ไฟน้อย) ส่วนที่บอกว่า “แค่ผลิตใช้เองในมาบตาพุด ไม่พออยู่แล้ว” นั้น ข้อเท็จจริงคือปตท. ไม่ได้ตั้งใจซื้อ Glow เพื่อใช้ไฟและไอน้ำเอง แต่ซื้อเพื่อขายให้ลูกค้าคนนอกและกฟผ. และหากซื้อเพื่อใช้เองคงถือว่าเป็นการลงทุนที่แพงมากๆ

เรื่องการลงทุนครั้งนี้จริงๆก็มีประเด็นเรื่องความคุ้มค่าครับ ปตท. จะใช้เงิน 100,000 ล้านบาทในการซื้อหุ้น ซึ่งกว่าครึ่งต้องชำระให้กับผู้ถือหุ้นต่างชาติ ดังนั้นเงินก้อนนี้จะถูกโอนกลับไปต่างประเทศและไม่เกิดประโยชน์ใดๆกับคนไทย ซึ่งต้องอย่าลืมว่ากว่าครึ่งของเงินนี้เป็นของคนไทยผ่านหุ้นที่รัฐถือในปตท. และเป็นการซื้อโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว และไม่ได้ทำให้มีทรัพย์สินสร้างขึ้นใหม่ให้กับประเทศไทยเรา

ผมไม่มีปัญหากับการทำกำไรโดยนักลงทุนต่างชาติ แต่ก็ต้องบอกว่าผิดหวังที่ปตท. ไม่สามารถนำเงินมหาศาลนี้ไปสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่านี้
งานพาร์ทไทม์ 2559 ร้านกาแฟอเมซอน Cafe Amazon ส่วนเรื่องกาแฟอเมซอน ประเด็นหลักของผมคือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการไทยที่พยายามสร้างแบรนด์ของคนไทยขึ้นมาเช่นเดียวกับอเมซอน เช่น D’oro วาวี หรือ Black Canyon และรวมไปถึงชาวบ้านรายเล็กรายน้อยตามถนนหนทางและชุมชนต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่มีฐานการเงินที่เข้มแข็งอย่างปตท. และไม่ได้มีความได้เปรียบจากการมีปั้มน้ำมันเป็นพันๆปั้มทั่วประเทศ ซึ่งความได้เปรียบทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ

หากถามว่าผมไม่ภาคภูมิใจหรือ ที่เรามีแบรนด์คนไทย และผมไม่ภาคภูมิใจหรือที่ปตท. ทำกำไรให้กับคนไทย ผมคงจะตอบว่าคนไทยคนอื่นเขาก็พยายามสร้างแบรนด์อยู่เหมือนกัน และเขาไม่ได้มีฐานความเข้มแข็งที่มาจากความเป็นรัฐมาสร้างความได้เปรียบ ส่วนการมีกำไรนั้นดีกว่าขาดทุนแน่นอน แต่กำไรของปตท. เกือบทั้งหมดมาจากการค้าขายกับคนไทย (โดยอาศัยสิทธิผูกขาด) ผมจะภาคภูมิใจมากกว่า หากปตท. ใช้ศักยภาพของตนในการสร้างรายได้ให้กับคนไทยด้วยการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ หรือในการสร้างนวัตกรรมทางด้านแหล่งพลังงานตามพันธกิจก่อตั้งองค์กร

สุดท้ายจึงจะขอเน้นอีกครั้งว่า เรื่องนี้เป็นทั้งเรื่อง ‘นโยบาย’ และ ‘กฎหมาย’ เราคงต้องเลือกระหว่างการมี National Champion แบบปตท. (หรือทุนใหญ่อื่นๆ) ที่เติบโตด้วยการรุกคืบในพื้นที่ของผู้ประกอบการคนไทยด้วยกัน (โดยมีรัฐถือหาง) หรือเราอยากมีระบบเศรษฐกิจที่มีผู้ประกอบการที่หลากหลาย ประชาชนมีช่องทางการค้าขาย และมีรัฐที่คอยคุ้มครองรักษาความเป็นธรรมตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ - ประชาธิปัตย์เลือกแบบหลังครับ

ผมเองไม่ได้ลงนามสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ผมเห็นด้วยกับมาตรา ๗๕ นี้อย่างมาก และผมหวังอย่างยิ่งว่าผู้มีอำนาจหน้าที่จะไม่ยอมรับการหลีกเลี่ยงกฎหมายกันด้วยวิธีตื้นๆด้วยการถือหุ้นไขว้ แต่จะพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่า ‘control’ นั้นอยู่ในมือใคร

มิเช่นนั้น ตามที่ผมได้กล่าวไว้แล้ว ‘การรุกคืบกินพื้นที่’ ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจเราจะไม่พัฒนา และที่สำคัญประชาชนทั่วไปจะมีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวน้อยลง

จึงขอเรียนครับว่าเรื่องนี้ผม ‘คิด’ มาแล้ว คิดมานาน และขอยืนยันในความคิดที่มี