กรมเจ้าท่าชู 8 พื้นที่ดึงเอกชนลงทุนมารีน่า

19 ก.พ. 2559 | 07:00 น.
กรมเจ้าท่า กาง 8 พื้นที่ศักยภาพดึงเอกชนลงทุนมารีน่า ทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน รับแผนผลักดันไทยเป็นฮับมารีน่าของอาเซียน ทั้งประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ทำคู่มือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการท่าเทียบเรือสำราญกีฬาโดยเฉพาะเพื่อความรวดเร็วในการลงทุน พร้อมเสนอบีโอไอเลื่อนขั้นการส่งเสริมการลงทุนธุรกิจนี้สู่ระดับฺ A3 จูงใจเอกชนลงทุน

[caption id="attachment_31869" align="aligncenter" width="475"] พื้นที่ที่มีความเป็นไปได้เบื้องต้นในการพัฒนามารีน่าเชื่อมโยงอ่าวไทยและอันดามันที่ทางกรมเจ้าท่าได้ศึกษาไว้ เพื่อดึงเอกชนเข้ามาลงทุน พื้นที่ที่มีความเป็นไปได้เบื้องต้นในการพัฒนามารีน่าเชื่อมโยงอ่าวไทยและอันดามันที่ทางกรมเจ้าท่าได้ศึกษาไว้ เพื่อดึงเอกชนเข้ามาลงทุน[/caption]

นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่าด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า แผนการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับมารีน่า ของอาเซียน นอกจากการการส่งเสริมให้ธุรกิจซูเปอร์ยอชต์ต่างชาติให้ทำการค้าในน่านน้ำไทยได้เป็นเวลา 1 ปีแล้ว ทางกรมเจ้าท่า ยังจะส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนามารีน่าเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจเรือยอชต์ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีมารีน่าที่ได้มาตรฐานให้บริการจำนวน 11 แห่ง อยู่ในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย 5 แห่ง และฝั่งอันดามัน 6 แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้บริการที่จอดเรือที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยเบื้องต้นกรมเจ้าท่าได้ศึกษาพื้นที่ศักยภาพพบว่ามี 8 แห่งที่มีศักยภาพในการลงทุนมารีน่า ในจังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่ศักยภาพ 2 แห่ง ได้แก่ 1.ท่าเรือเอเชียมารีน่า ตำบลอำเภอ มีพื้นที่ประมาณ 24 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณปากคลองท่าจีนเป็นแนวตามเรียบคลองยาวกว่า 200 เมตร มีความลึกของน้ำ 5 เมตร พื้นที่บนบกส่วนหนึ่งได้มีการพัฒนาเป็นคานเรือสำหรับรองรับการจอดและซ่อมเรือ ทั้งเรือ สปีดโบ๊ทนำเที่ยว และเรือขนาดใหญ่ 2.ท่าเทียบเรืออ่าวกุ้ง เบย์ มารีน่า ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง มีพื้นที่ประมาณ 108 ไร่ มีแนวกำบังคลื่นลมตามธรรมชาติ พื้นที่ด้านหน้าติดทะเลเป็นแนวกว้างประมาณ 250 เมตร มีความลึกของน้ำ 8 เมตร

ส่วนในพื้นที่จังหวัดพังงามี 2 พื้นที่จะสามารถพัฒนาเป็นมารีน่า 2 แห่ง ได้แก่ 1.ท่าเรือควา สตาร์ มารีน่า จำกัด ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่เศษ มีสันทรายธรรมชาติที่ช่วยกำบังคลื่นลมได้เป็นอย่างดี มีความลึกของน้ำ 3 – 5 เมตร รองรับเรือได้จำนวน 49 ลำ บนฝั่งมีอาคารสำนักงาน อาคารโรงเก็บเรือ อาคารซ่อมบำรุง และลานจอดรถ เดินทางได้สะดวกสบาย อยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม เช่น หมู่เกาะสิมิรัน หมู่เกาะสุรินทร์ และไม่ไกลจากสาธารณูปโภค และ สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สนามกอล์ฟ โรงแรมหรู 2.บ้านบางจัน ตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ มีความลึกของน้ำ 3 – 5 เมตร ติดกับคลองสาธารณะ อยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติภูเก็ต 37 กิโลเมตร สะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวทางเรือเพื่อชมความงามของอ่าวพังงา

สำหรับที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 2 ในพื้นที่ของเกาะสมุย ได้แก่ 1.แหลมไม้แก่น ตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของเกาะสมุยเป็นแหลมที่ยื่นออกมากั้นตรงกลางระหว่างอ่าวบางรักษ์และอ่าวบ่อผุด เป็นที่ราชพัสดุ มีเนื้อที่ทั้งหมด 37 – 1 – 85 ไร่ พื้นที่ปลายแหลมทั้ง 2 ด้าน สามารถสร้างมารีน่าซึ่งอาศัยลักษณะทางธรรมชาติบังคลื่นลมและมีเกาะต่างๆโดยรอบคอยบังคลื่นลม ไม่ว่าจะเป็นเกาะส้มและเกาะเต้าปูน ซึ่งระดับความลึกบริเวณพื้นที่ของแหลมไม้แก่นมีความลึกของน้ำอยู่ที่ ระดับ 1.5 – 3.5 เมตรอีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้กับจุดจอดเรือยอชต์ของเกาะสมุย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จอดของเรือไทยและต่างประเทศในปัจจุบัน 2.อ่าวท้องโตนด ตั้งอยู่บริเวณตอนใต้ของเกาะสมุย เป็นอ่าวเล็กๆ มีแหลมนิคมเป็นที่กำบังคลื่นลมได้ตลอดทั้งปี มีพื้นที่บนชายฝั่งประมาณ 15 – 25 ไร่ ที่สามารถพัฒนาเพื่อรองรับธุรกิจมารีน่าได้ ซึ่งอ่าวท้องโตนดเป็นพื้นที่จอดเรือประมงท้องถิ่นและเรือนำเที่ยวไปตามหมู่เกาะต่างๆ ร่องน้ำมีความลึกของน้ำประมาณ 2 – 3 เมตร

ในด้านฝั่งอ่าวไทย จ.ชลบุรี คือ ท่าเรือแหลมเทียน ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ เป็นพื้นที่จอดเรือซึ่งอยู่ในฐานทักเรือสัตหีบกองทัพเรือ มีพื้นที่ตลอดแนวหาดความยาว 150 เมตร ระดับความลึกของน้ำประมาณ 5 – 6 เมตร มีเกาะรายล้อมที่สามารถป้องกันคลื่นลมได้เป็นอย่างดี พื้นที่หลังท่าเรือมีเพียงพอสำหรับพัฒนาธุรกิจมารีน่า ห่างจากพัทยา 30 กิโลเมตร ซึ่งนอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายแล้วยังมีความพร้อมทางด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมารีน่าและอู่ต่อเรือ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 180 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินอู่ตะเภาเพียง 15 นาที ทั้งนี้จากสถานีดังกล่าวสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปยังเกาะล้าน เกาะขาม และเกาะอื่นๆบริเวณโดยรอบได้

ขณะที่จังหวัดตราด มี 1 พื้นที่ คือ บ้านแหลมศอก ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมือง มีสภาพพื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ราบ สามารถพัฒนาเป็น ln – land marina พื้นที่ตั้งโครงการจำเป็นต้องก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและต้องขุดลอกร่องน้ำทางเรือเดินจากร่องน้ำทางเรือเดินทางหลักจากร่องน้ำแม่น้ำตราดเชื่อมต่อเข้าเข้าไปบริเวณพื้นที่โครงการมีพื้นที่ในการดำเนินการประมาณ 7 ไร่ สามารถเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็น เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวในต่างประเทศ อยากเกาะฟูก๊วก ของประเทศเวียดนาม และจังหวัดสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา

" 8 พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดที่กรมเจ้าท่ามองว่าเหมาะสมที่จะดึงดูดให้เอกชนเข้ามาพัฒนามารีน่า แต่ด้วยความที่การสร้างมารีน่าต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันไม่มีคู่มือการทำ EIA (งานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม)เฉพาะเรื่องมารีน่า ทางกรมเจ้า ก็กำลังระหว่างเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำคู่มือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการท่าเทียบเรือสำราญกีฬา เพื่อความรวดเร็วในการลงทุน และนำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้ทบทวนการให้สิทธิประโยชน์หลักคือได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ซึ่งเสนอให้เลื่อนขั้นการส่งเสริมการลงทุนพัฒนามารีน่าจากระดับ B1 เป็น A3" นายสมชาย กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559