"ธีระชัย" อดไม่ได้สอดแทรกวิวาทะ 'กรณ์' VS 'ปิยสวัสดิ์' เหตุ ปตท. เสนอซื้อ Glow

14 ก.ย. 2561 | 13:09 น.
ต่อกรณีที่กลุ่ม ปตท. เสนอซื้อบริษัทผลิตไฟฟ้า Glow และมีความเคลื่อนไหวระหว่างนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กับ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตประธานกรรมการบริษัท ปตท. จนนำไปสู่การโต้แย้งกันนั้น นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ต้องออกมาโพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวต่อกรณีนี้ว่า

"Thirachai Phuvanatnaranubala

"ขอแทรกวิวาทะระหว่างกรณ์กับปิยสวัสดิ์"

ข่าวกรุงเทพธุรกิจ ระบุกรณีการออกมาเคลื่อนไหวของนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์

ออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ซื้อหุ้นบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)

โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 75 และอาจเข้าข่ายใช้อำนาจทางการตลาด

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตประธานกรรมการบริษัท ปตท. ผู้เจรจาดีลเสร็จก่อนหน้าพ้นตำแหน่ง ได้แถลงข่าวโต้แย้ง

ผมจึงขอถือโอกาสให้ข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการถกแถลงดังกล่าว
...

fbtee

***นายปิยสวัสดิ์: รัฐบาลมีนโยบายให้มีการแข่งขันเสรีในธุรกิจก๊าซ ก็ควรจะต้องให้มีการแข่งขันเสรีในธุรกิจไฟฟ้าด้วย ไม่ควรบอกว่าก๊าซฯเปิดเสรีทุกคนเข้ามาแข่งได้ แต่ ปตท.เข้าไปทำธุรกิจไฟฟ้าไม่ได้

ผมขอแทรก***: นโยบายแยกระบบท่อก๊าซเพื่อให้มีการแข่งขันเสรีในธุรกิจก๊าซนั้นกำหนดตั้งแต่รัฐบาลชวน และมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ซึ่งกำหนดนโยบายนี้ก็มีนายปิยสวัสดิ์เองเป็นเลขานุการ แต่การแยกระบบท่อก๊าซก็ไม่เกิดขึ้น

ต่อมาเปลี่ยนเป็นรัฐบาลทักษิณ นายปิยสวัสดิ์ก็เป็นเลขานุการที่ประชุมกพช.ซึ่งกลับหลังหัน เปลี่ยนมติให้เอาหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯไปก่อนแล้วค่อยแยกระบบท่อก๊าซภายหลังภายใน 1 ปี

ทั้งที่การแยกภายหลังจะไม่เป็นการแยกตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ กล่าวคือจะไม่มีข้อบังคับให้ต้องท่อก๊าซส่วนใดให้กระทรวงการคลัง หรือให้ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นรายได้แผ่นดิน

คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจที่มีนายปองพล อดิเรกสารเป็นประธานก็ตั้งข้อสังเกตว่าการแยกระบบท่อก๊าซภายหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นจะทำได้ยาก จึงเสนอให้มีการศึกษาทบทวน

แต่คณะกรรมการเตรียมการที่มีนายปิยสวัสดิ์ร่วมประชุม ก็ไม่ชะลอการเอาหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อแยกท่อก๊าซให้เสร็จเรียบร้อยก่อน

ท้ายสุดภายหลังการแปรรูป จึงเกิดกรณีที่รัฐมนตรีพลังงานถอนเรื่องแยกท่อก๊าซออกจากระเบียบวาระประชุม ครม. ทำให้การแข่งขันเสรีในธุรกิจก๊าซไม่เกิดขึ้น

tee

ต่อมาในปี 2549 ภาคประชาชนฟ้องศาลปกครองสูงสุด ซึ่งพิพากษาให้แบ่งแยกทรัพย์สิน นายปิยสวัสดิ์ก็เป็นรัฐมนตรีพลังงานที่เสนอ ครม. กำหนดกรอบการแบ่งแยกที่ครอบคลุมเฉพาะท่อก๊าซในที่ดินเอกชนที่ใช้อำนาจเวนคืน แต่ไม่รวมท่อก๊าซในที่สาธารณะและใต้ท้องทะเล

ทั้งที่มติ กพช.ทั้งสองครั้งไม่ได้แยกระบบท่อก๊าซเป็นท่อนๆแบบนี้

ต่อมา สตง.ตรวจสอบในปี 2551 ระบุว่าท่อก๊าซที่โอนให้กระทรวงการคลัง 1.6 หมื่นล้านบาทนั้นยังไม่ครบถ้วน ขาดอีก 3.2 หมื่นล้านบาท และในปี 2559 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็มีมติให้โอนจนครบถ้วน แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการ

จึงต้องตั้งคำถามว่า ขณะนี้มีการแข่งขันเสรีในธุรกิจก๊าซเกิดขึ้นแล้วหรือ?

มีเอกชนรายอื่นที่สามารถแข่งขันซื้อก๊าซจากปากหลุมผู้รับสัมปทานอย่างแท้จริง โดยใช้ระบบท่อก๊าซเท่าเทียมกับปตท.หรือไม่?
...

***นายปิยสวัสดิ์: ผู้ที่ผูกขาดระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งผูกขาดการผลิตไฟฟ้าด้วย คือมีกำลังผลิต 16,000 เมกะวัตต์ แต่จีพีเอสซีมีกำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับโกลว์อีก 3,000 เมกะวัตต์ จะมีกำลังผลิต 5,000 เมกะวัตต์ เป็นเพียงอันดับ 5 ของประเทศ

ดังนั้น สิ่งที่ควรผลักดันคือให้รัฐเปิดเสรีกิจการไฟฟ้าเช่นเดียวกับกิจการก๊าซธรรมชาติ

ผมขอแทรก***: ในระหว่างที่ประชาชนฝันว่ามีการแข่งขันเสรีในธุรกิจก๊าซ แต่ผมยังไม่เห็นเกิดขึ้นนั้น ไม่จำเป็นต้องลดกำลังผลิตของ กฟผ. เพราะ กฟผ.เป็นของรัฐ 100% กำไรเป็นของประชาชนทั้งหมด ไม่เหมือนบริษัทปตท.ที่กำไรบางส่วนเป็นของเอกชนรวมทั้งผู้ถือหุ้นต่างประเทศ

ส่วนประเด็นว่า กฟผ.จะต้องบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพนั้น สามารถมีวิธีบริหารจัดการได้ง่าย

สำหรับการเทคโอเวอร์โกลว์นั้น ก่อปัญหาผูกขาดในแนวดิ่ง (vertical integration) เพราะโรงไฟฟ้าอื่นคู่แข่งกับโกลว์ที่ใช้ก๊าซนั้น ต้องซื้อก๊าซจากบริษัท ปตท.ทั้งสิ้น

ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจนะครับ การเปรียบเทียบกำลังผลิตตามที่นายปิยสวัสดิ์พยายามอธิบายว่ามีสัดส่วนที่น้อย การเปรียบเทียบอย่างนี้ใช้เฉพาะกรณีผูกขาดในแนวราบ (horizontal integration) แต่กรณีนี้เป็นการผูกขาดในแนวดิ่ง (vertical integration)
...

***นายปิยสวัสดิ์: ธุรกิจ ปตท.เป็นโรงกลั่นและปิโตรเคมี ที่ต้องการไฟฟ้าและไอน้ำในประสิทธิภาพสูง จึงต้องมีจีพีเอสซีเพื่อผลิตไฟฟ้า

แต่ปัจจุบัน เมื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแล้ว ก็ควรเปิดโอกาสให้จีพีเอสซีร่วมประมูลได้ด้วย

ผมขอแทรก***: ผมสนับสนุนการที่กลุ่ม ปตท.จะผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในวงจำกัด แต่ไม่ควรขยายออกไปแข่งขันกับชาวบ้าน
...

090861-1927-9-335x503

***นายปิยสวัสดิ์: กรณีที่ระบุว่า ปตท.ถูกจัดตั้งขึ้นมาตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมฯที่เจาะจงให้ทำธุรกิจปิโตรเลียมเท่านั้น ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกยกเลิกไปนานแล้วตั้งแต่แปรรูป ปตท. ปี 2544

อำนาจรัฐที่เคยโอนให้ ปตท.ก็ถูกดึงไปที่ กกพ.หมดแล้ว หลังออก พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2550 ดังนั้น ปตท.ไม่มีอำนาจรัฐเหลืออีกต่อไปแล้ว

ผมขอแทรก***: รัฐธรรมนูญที่ห้ามรัฐทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชนต้องบังคับผ่านรัฐวิสาหกิจเท่านั้น เพราะส่วนราชการเขาไม่ทำธุรกิจ

ดังนั้น ถึงแม้กฎหมายจัดตั้งการปิโตรเลียมฯจะยกเลิกไปแล้ว แต่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญต่อบริษัท ปตท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจ ก็ควรต้องคำนึงถึงกฎหมายนี้ เพราะบริษัท ปตท.เกิดขึ้นสืบเนื่องจากกฎหมายดังกล่าว
...

***นายปิยสวัสดิ์: สำหรับกรณีผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าโกลว์ 8 ใน 10 รายที่ออกมาเรียกร้องคัดค้านการซื้อหุ้นของจีพีเอสซี เป็นบริษัทในเครือเอสซีจี นั้น คาดว่า คงจะกลัวเรื่องของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

ซึ่งกลุ่มเอสซีจี ทำธุรกิจปิโตรเคมี และเป็นคู่แข่งกับกลุ่ม ปตท.

แต่ปัจจุบันโกลว์มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับลูกค้าอยู่แล้ว ซึ่ง กกพ.ต้องกำกับดูแลให้เป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

ผมขอแทรก***: มีคนแจ้งผมว่าผู้แทนกลุ่มบริษัท ปตท.เคยให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมาธิการว่า มีการขายก๊าซให้แก่ปิโตรเคมีในเครือ --- ราคาถูกกว่าขายแก่ลูกค้าทั่วไป --- แต่ผมไม่ได้ร่วมประชุมดังกล่าวจึงไม่สามารถยืนยัน

ข้อกังวลของบริษัทเอกชนอื่นๆจึงอาจจะเป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากพฤติกรรมทำนองนี้หรือไม่?

และผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้แล้วว่า กกพ. ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาเรื่องการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

วันที่ 14 กันยายน 2561
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala"

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว