IFRS กระทบ THAI ซื้อฝูงบิน! โบรกมองเพิ่มความเสี่ยงหนี้ในอนาคต

16 ก.ย. 2561 | 11:39 น.
160961-1839

โบรกฯ มองการลงทุนซื้อฝูงบิน "การบินไทย" 23 ลำ แสนล้านบาท ไม่กระทบต่อฐานะการเงินระยะสั้น แต่ห่วงมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS) บังคับใช้การบริหารต้นทุนและราคาน้ำมันปรับขึ้น เพิ่มความเสี่ยงภาระหนี้ D/E ในอนาคต

จากการที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำถึงความจำเป็นในการที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องซื้อฝูงบินจำนวน 23 ลำ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้หารือถึงแผนธุรกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI) ที่จำเป็นจะต้องซื้อฝูงบินใหม่ จำนวน 23 ลำ วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแข่งขันสู่การเป็นสายการบินแห่งชาติระดับพรีเมียม โดยนายสมคิดจะเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารการบินไทย ในวันที่ 20 ก.ย. นี้


MP18-3401-A


มุมมองของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)ฯ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ที่มีการลงทุน เพราะเครื่องบินใหม่จะช่วยในเรื่องประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้น ต้องมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง แผนลงทุนดังกล่าวจะไม่กระทบต่อฐานะการเงินของการบินไทย (ปัจจุบัน หนี้สิน : ทุน อยู่ที่ 8.03 เท่า) เพราะเป็นแผน 5 ปี เป็นการทยอยรับมอบ ส่วนผลกระทบด้านหนี้สินต่อทุน (D/E) ด้วยมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS) หากมีผลบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการเช่า หรือ การซื้อ ก็ต้องถูกบันทึกเป็นหนี้สินอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี แม้ผลประกอบการของการบินไทยในครึ่งปีแรกปีนี้ จะขาดทุนสุทธิ 382 ล้านบาท น้อยลงจากที่ขาดทุนสุทธิถึง 2 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีที่แล้ว แต่ยังแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาด เนื่องจากกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์ต่ำเกินคาด และต้นทุนน้ำมันถูกกดดันจากการที่ราคาน้ำมันเครื่องบินขยับสูงขึ้น ส่วนแนวโน้มในครึ่งปีหลัง คาดรายได้จากค่าโดยสารจะดีขึ้น (เทียบปีต่อปี) จากการปรับขึ้นค่าตั๋วผ่านการคิดค่าธรรมเนียมน้ำมันในปีนี้ และผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นฤดูท่องเที่ยวและการบริหารต้นทุนได้ดี


บินไทย


บล.เคจีไอฯ ได้ปรับลดประมาณการกำไรในปี 2561 และปี 2562 ลง 60% และ 57% ตามลำดับ สะท้อนรายการพิเศษที่แย่กว่าที่คาดเดิม ได้แก่ กำไรจากการขายสินทรัพย์และที่ดิน และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันเครื่องบินปีนี้และปีหน้าขึ้นเป็น 80 และ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล (จากเดิมที่ 75 และ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล) ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิ ปี 2561 และ 2562 จะลดลงมาเป็น 1.94 พันล้านบาท และ 2.91 พันล้านบาท ตามลำดับ ยังแนะนำ "ซื้อ" หุ้น THAI ที่ราคาพื้นฐาน 16.10 บาท จากราคาเฉลี่ยปัจจุบันกว่า 13 บาท

นายอภิชัย เรามานะชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ.บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ฯ กล่าวว่า ธุรกิจการบินแข่งขันสูงมาก และมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่เสี่ยงต่อการขาดทุน รวมถึงเรื่องมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS ยังไม่รู้ว่าจะมีผลเมื่อไร จึงเป็นความเสี่ยง D/E ในอนาคตได้ เพราะเดิมการซื้อฝูงบินไม่ต้องบันทึกเป็นหนี้สินเหมือนเช่าซื้อ แต่มาตรฐานบัญชีใหม่ต้องลงบันทึกจึงเป็นภาระรายจ่าย โดยเฉพาะการซื้อสินทรัพย์ในมูลค่ามาก

อย่างไรก็ดี มองว่าผลประกอบการของการบินไทยไม่แย่ไปกว่านี้ สะท้อนจากราคาหุ้นปัจจุบัน อีกทั้งศักยภาพจากแผนธุรกิจของบริษัทเองที่ได้ให้น้ำหนักในเรื่องการขยายศูนย์ซ่อม ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,401 วันที่ 16-19 ก.ย. 2561 หน้า 18

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กกบ. เลื่อนใช้ IFRS9 ไม่กระทบกลุ่มแบงก์
ลุ้นประชุม กกบ. เลื่อน-ไม่เลื่อน บังคับใช้ IFRS9


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว