4 บิ๊กตั้ง "ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลฯ" ชง 3 แนวทางบริหารจัดการ "มัค"

14 ก.ย. 2561 | 10:27 น.
4 บิ๊กผู้ให้บริการมัค จับมือตั้ง "ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล" เน้นพัฒนาและบริหารจัดการโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพ แนะ 3 แนวทาง สร้างความแข็งแรงเสริมบริการสู่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล



mou4

พล.ต.อนุรักษ์ แสงฤทธิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานปฏิบัติการ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ร่วมกับ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พล.ท.สรรเสริญ  แก้วกำเนิด รักษาราชการ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ผสานความร่วมมือจัดตั้ง "ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ชคท.)" หรือ Digital Television Network Provider Society (DNPS) เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ แลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคนิคและพัฒนาคุณภาพการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอลร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ


mou5

ทั้งนี้ จากสภาพอุตสาหกรรมธุรกิจดิจิตอลในปัจจุบัน ทำให้เกิดสภาวะโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (MUX) เกินความต้องการ (Over Supply) เนื่องจาก กสทช. ออกใบอนุญาตไม่เป็นไปตามแผน โดยออกใบอนุญาตผู้ให้บริการโครงข่ายจำนวน 5 โครงข่าย (5 MUX) ซึ่งมีจำนวน 38 ช่องสัญญาณ แต่ออกใบอนุญาตฯ ผู้ให้บริการช่องรายการ จำนวน 26 ช่องรายการ ทำให้จำนวนช่องสัญญาณมีเกินกว่าช่องรายการจำนวน 12 ช่องสัญญาณ ทำให้เกิดอำนาจต่อรองจากผู้เช่า เช่น ผู้ให้บริการช่องรายการขอลดอัตราค่าเช่า การชำระค่าเช่าล่าช้า มีแนวโน้มการไม่จ่ายค่าเช่า และย้ายไปเช่าโครงข่ายอื่น ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานของผู้ให้บริการโครงข่ายเรื่องเงินทุนหมุนเวียนและภาระหนี้สิน


mou6

ดังนั้น หน้าที่เร่งด่วน ที่ชมรมจะเร่งดำเนินการ คือ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคนิคและพัฒนาคุณภาพการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอลให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะกำหนดแนวทางและการบริหารจัดการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้

1) แนวทางในระยะสั้น ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จะร่วมกันพิจารณาและหาแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว  เช่น แนวทางการบริหารต้นทุนร่วมกัน, การกำหนดมาตรฐานของราคาค่าบริการ, การกำกับดูแลกันเอง การเจรจาและให้คำปรึกษากับผู้เช่าใช้บริการโครงข่ายฯ

2) แนวทางในระยะกลาง เป็นแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการโครงข่ายฯ , กสทช. และรัฐบาล เพื่อการแก้ปัญหาผลกระทบของทรัพย์สินรัฐที่รับภาระแทน กสทช. เช่น โครงการแก้ปัญหาและเยียวยาจำนวนช่องรายการที่ว่างอยู่ในโครงข่าย ซึ่งเกิดขึ้นตามแผนแม่บทและข้อบังคับของ กสทช.

3) แนวทางในระยะยาว เป็นการเสนอแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จากสถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันต่อรัฐบาล หรือ กสทช. และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น การเสนอให้ กสทช. ดำเนินการ National Mux service center ในการรวมโครงข่ายฯ ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่บริหารจัดการหรือจัดตั้งเป็นโครงข่ายฯ การให้บริการแห่งชาติเพิ่อให้ได้ มาตรฐานระดับสากลต่อไป


mou1

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ นั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อมาต่อสู้กับผู้ให้บริการช่องรายการ แต่เพื่อสร้างความเข้มแข็ง แข็งแรงของการบริการให้บริการโครงข่ายฯ และเพื่อให้บริการที่มีคุณภาพเกิดความผิดพลาดในการออกอากาศน้อยที่สุด ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ประโยชน์ก็จะครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการช่องรายการ ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ทั้ง 4 หน่วยงาน และประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพและเสียงอย่างไร้ขีดจำกัด


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว