บอร์ด ปตท. เคาะถือหุ้น 25% เร่งเลือกคู่ BTSC-CP!!

14 ก.ย. 2561 | 10:17 น.
140961-1707

บอร์ด ปตท. จี้เจรจาเอกชน 2 ราย บีทีเอสซีและซีพีร่วมทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เร่งให้ได้ข้อยุติ นำสู่การตัดสินใจ 28 ก.ย. นี้ ... 'ชาญศิลป์' ชี้มีความพร้อม เชี่ยวชาญคนละด้าน แต่ต้องตัดสินใจเลือกผลตอบแทนดีที่สุด เผย บอร์ดเคาะให้ถือหุ้นได้แค่ 25% กันความเสี่ยง

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า การยื่นประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งล่าสุด ในการประชุมบอร์ด ปตท. เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการคัดเลือกบริษัทเอกชนเหลือ 2 ราย ที่จะต้องไปเจรจาต่อ เพื่อให้ได้ข้อยุติ ได้แก่ กลุ่มบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ที่มีพันธมิตร บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเป็นกลุ่มคนไทยเข้ายื่นประมูล

 

[caption id="attachment_317531" align="aligncenter" width="327"] ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)[/caption]

ส่วน ปตท. จะเลือกกลุ่มไหนนั้น ก็มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 บริษัท เนื่องจากแต่ละบริษัทมีความพร้อมและความโดดเด่นกันในแต่ละด้าน จึงได้ให้บริษัทที่ปรึกษาไปศึกษาในรายละเอียดของข้อเสนอต่าง ๆ ของแต่ละบริษัทเป็นอย่างไร เพื่อนำมาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย รวมถึงความคุ้มค่า ผลตอบแทนที่ ปตท. จะได้รับ รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะเห็นผลได้ต้องอาศัยระยะเวลา 5-7 ปี และผลตอบแทนที่ได้กลับมาไม่มาก 1-2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

แต่การที่ ปตท. ต้องเข้าร่วมประมูล เพราะเห็นว่าเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งกลุ่ม ปตท. มีฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมากในอีอีซี

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวก็มีความเสี่ยง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเลือกบริษัทที่ให้ผลตอบแทน ปตท. ดีที่สุด ทั้งความคุ้มค่าด้านการลงทุน เทคโนโลยี ความชำนาญในธุรกิจ เพราะอย่าลืมว่า นอกจากรถไฟความเร็วสูงแล้ว จะต้องพ่วงกับการพัฒนาพื้นที่มักกะสันและพื้นที่ศรีราชาด้วย ซึ่งจะต้องมีการศึกษาพันธมิตรที่จะเข้าร่วมประมูลให้ดี เพราะเป็นโครงการใหญ่ ซึ่งหากศึกษาแล้วเสร็จทัน ก็จะนำเสนอบอร์ด ปตท. ในวันที่ 28 ก.ย. นี้ เพื่อพิจารณาตัดสินใจจะเลือกเอกชนกลุ่มใด แต่หากไม่ทัน คงต้องเลื่อนเสนอไปในการประชุมบอร์ด ปตท. ในวันที่ 28 ต.ค. 2561 แทน เพื่อให้ทันกับการยื่นประมูลในวันที่ 12 พ.ย.


appMAP-3193


แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหาร ปตท. เปิดเผยว่า ในการประชุมที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาว่า หากกลุ่ม ปตท. ร่วมกับพันธมิตร ชนะการประมูลในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารงาน จะให้บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 25% ด้วยเหตุผลของการลดความเสี่ยงด้านการลงทุน แต่สามารถเข้าไปมีส่วนในการบริหารงานได้

ขณะที่ การใช้เงินทุนจดทะเบียนตั้งบริษัทไม่สูงมากนัก จากที่กำหนดเงื่อนไขต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท ในวันลงนามสัญญาร่วมลงทุน และก่อนเริ่มการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,400 วันที่ 13-15 ก.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ความสุขของคนไทยคือพลังขับเคลื่อน ปตท.
“การบินไทย”แจงคนร. จับมือปตท.-กรุงไทย-ทอท.-ททท. หนีปัญหาขาดทุน

เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62-7