"บอร์ดอีอีซี" อัดงบ 574 ล้าน! เร่งจัดตั้งเมืองใหม่อัจฉริยะ

23 ก.ย. 2561 | 05:56 น.
"บอร์ดอีอีซี" ไฟเขียวงบ 574 ล้านบาท ให้ศึกษาการจัดตั้งเมืองใหม่อัจฉริยะ ลุย 27 โครงการ ทั้งออกแบบและพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการเงิน พร้อมออกมาตรการจูงใจนักลงทุน

การจัดตั้งเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่และศูนย์กลางการเงิน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ถือเป็น 1 ในโครงการสำคัญที่รัฐบาลพยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้นมา เพื่อรองรับการพัฒนาอีอีซี ที่จะให้มีความสะดวกสบาย มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่จะเข้ามาอยู่อาศัย

โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงได้เห็นชอบงบประมาณที่จะนำมาศึกษาการจัดตั้งเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ วงเงิน 574 ล้านบาทแล้ว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เปิดเผยว่า สำหรับวงเงิน 574 ล้านบาท จะนำไปให้สำหรับศึกษาและดำเนินงานในด้านต่าง ๆ รวม 27 โครงการ แบ่งเป็น การพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ 12 โครงการ วงเงินรวม 142 ล้านบาท เพื่อศึกษาออกแบบและการพัฒนาพื้นที่


เมืองใหม่2

 

ด้านการบริหารจัดการ วงเงินรวม 90 ล้านบาท เช่น การกำหนดสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ , ศึกษา/ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง , ศึกษาและกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการแบบพิเศษในเมืองอัจฉริยะ , ประชาสัมพันธ์และชักชวนนักลงทุน

การพัฒนาศูนย์กลางทางการเงิน 15 โครงการ วงเงินรวม 432 ล้านบาท เช่น การจัดหาพื้นที่ของรัฐและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวม 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งเมืองศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางทางการเงินในพื้นที่อีอีซี และโครงการพัฒนาขอบเขตของพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางทางการเงิน วงเงินรวม 30 ล้านบาท การพัฒนามาตรการจูงใจ รวม 3 โครงการ วงเงิน 10 ล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาสิทธิประโยชน์และปรับปรุงระเบียบทางด้านการเงิน เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางทางการเงิน (ระยะที่ 1) โครงการพัฒนาสิทธิประโยชน์และปรับปรุงระเบียบทางด้านการเงิน เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางทางการเงิน (ระยะที่ 2) และโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเงินไทย

การพัฒนาเมืองศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงิน รวม 5 โครงการ วงเงิน 320 ล้านบาท ได้แก่ โครงการลงทุนก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ โครงการพัฒนาพื้นที่โดยภาคเอกชน (ระยะที่ 1) โครงการพัฒนาพื้นที่โดยภาคเอกชน (ระยะที่ 2) โครงการจัดตั้งสำนักงานภายในพื้นที่นำร่องในอีอีซี และโครงการความเป็นไปได้ในการขยายขอบเขตพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงินในอีอีซี และการพัฒนาบุคลากรรวม 2 โครงการ วงเงินรวม 46 ล้านบาท


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,401 วันที่ 16-19 ก.ย. 2561 หน้า 11

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
4 ผู้สมัครชิงเอ็มดี ‘อีลิทการ์ด’ เร่งขายสมาชิกใหม่ผนึกบีโอไอลงทุนอีอีซี
เปิดใช้ที่ดิน 'อีอีซี' 1.3 แสนไร่! ทางคู่เวนคืน 40 เมตร ระยะ 300 กม. - ไฮสปีดแจ๊กพ็อต 857 ไร่


เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62-7