ไก่แช่แข็งไปจีนห่างเป้าอื้อ จากเชียงแสนไปท่าเรือกวนเหล่ย 8 เดือนไม่ถึง 2 พันล้าน

19 ก.ย. 2561 | 03:30 น.
ส่งออกชิ้นส่วนไก่แช่แข็งไปจีนยังห่างจากคาดการณ์อีกมาก หลังจีนไฟเขียวให้ไทยส่งออกผ่านท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไปที่ท่าเรือกวนเหล่ย มณฑลยูนนาน กรมปศุสัตว์คาดส่งออกปีละ 7,000 ล้านบาท แต่ 8 เดือนของปี 2561 ส่งออกได้ไม่ถึง 2,000 ล้านบาท

DCIM100MEDIADJI_0003.JPG
ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” รายงานจากจังหวัดเชียงรายว่า ภายหลังจากจีนพัฒนาท่าเรือ กวนเหล่ย และอนุมัติให้สามารถนำเข้าสินค้าแช่แข็งที่ท่าเรือกวนเหล่ยได้ จากนั้นในวันที่ 28 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์จึงได้จัดให้มีพิธีปล่อยเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์บรรจุผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแช่แข็งเที่ยวปฐมฤกษ์ไปยังประเทศจีน โดยในวันนั้นทางผู้บริหารกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สำนักงานการขึ้นทะเบียนหรือรับรองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CNCA) ได้ประกาศรับรองให้โรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อไก่ของไทยจำนวน 7 โรงงาน สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไก่แช่แข็งไปที่ประเทศจีนได้ เบื้องต้นกรมปศุสัตว์จึงคาดการณ์ว่าน่าจะสามารถส่งออกชิ้นส่วนไก่แช่แข็งจากไทยไปจีน ผ่านท่าเรือเชียงแสนไปที่ท่าเรือกวนเหล่ย เพื่อนำไปขายในตลาดจีนตอนใต้ได้ไม่ตํ่ากว่าปีละ 7,000 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกผ่านท่าเรือเชียงแสนในรอบ 8 เดือนของปี 2561 ซึ่งทำได้เพียง 1,864.07 ล้านบาท จะเห็นได้ว่ายังห่างจากคาดการณ์ของกรมปศุสัตว์ที่คาดการณ์ไว้อีกมาก แต่ก็มีปริมาณและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560

“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงรายที่ผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน พบว่า ช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2561 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 12,210.597 ล้านบาท แยกเป็นมูลค่าการนำเข้า 408.223 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 11,802.374 ล้านบาท ถือว่าภาพรวมของการค้าดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 7,067.266 ล้านบาท แยกเป็นมูลค่าการนำเข้า 608.147 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 6,459.119 ล้านบาท เมื่อดูเฉพาะสินค้าชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง ซึ่งเป็นสินค้าที่น่าจะได้รับผลดีจากการพัฒนาท่าเรือกวนเหล่ย พบว่า ช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2561 มีการส่งออกชิ้นส่วนไก่แช่แข็งไทยไปจีนปริมาณทั้งสิ้น 22,835 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีปริมาณแค่เพียง 13,549 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 9,277 ตัน ขณะที่มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนไก่แช่แข็งไทยไปจีนช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2561 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,864.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีมูลค่าเพียง 1,147.39 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 716.68 ล้านบาท

MP21-3401-A

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้การส่งออกไก่แช่แข็งไทยไปจีนไม่เป็นไปอย่างที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า สาเหตุแรกจำนวนโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อไก่ของไทยจำนวน 7 โรงงานที่ CNCA ประกาศรับรองไปนั้น ยังมีน้อย รัฐบาลไทยและกรมปศุสัตว์ควรที่จะต้องเร่งรีบให้ CNCA มาตรวจและรับรองให้อีก 12 โรงงานที่เหลือให้สามารถส่งออกได้ทั้งหมด เพราะตลาดจีนตอนใต้ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จาก 7 โรงงานยังมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะส่งออกไปขายได้ เนื่องจากทางโรงงานเองก็ต้องส่งไปขายประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นลูกค้าเดิมด้วย ประกอบกับราคาไก่แช่แข็งของไทยที่ส่งไปขายที่ประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น ได้ราคาดีกว่าส่งไปขายที่ประเทศจีน ทำให้ผู้ผลิตเลือกที่จะส่งสินค้าไปขายในประเทศที่ให้ราคาดีที่สุดก่อน

“นอกจากนี้การส่งออกชิ้นส่วนไก่แช่แข็งไทยไปจีน ใช่ว่าจะสามารถทำได้ง่ายๆ หากต้องการความสะดวก รวดเร็ว จะต้องทำการส่งผ่านผู้ประกอบการไทยและจีนที่มีคอนเนกชันกับทางจีน แต่ก็ต้องแลกกับการเสียค่าหัวคิว ซึ่งเป็นที่มาของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เรื่องนี้ทางการไทยต้องเอาเรื่องนี้ไปแจ้งให้ทางการจีน ลงมาแก้ไขปัญหา” แหล่งข่าว ระบุ

แหล่งข่าวคนเดิม ระบุด้วยว่า การส่งออกชิ้นส่วนไก่แช่แข็งของไทยไปจีนตอนใต้บางส่วนจึงยังคงใช้ระบบเดิม คือ ส่งออกทางทะเลที่ท่าเรือแหลมฉบังไปขึ้นฝั่งที่เสินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง จากนั้นจึงค่อยลำเลียงด้วยรถยนต์ลงมาที่ศูนย์กระจายสินค้าในมหานครคุนหมิง มณฑลยูนนานอีกที ซึ่งทำให้สินค้าต้องเดินทางไกลร่วม 1,500 กิโลเมตร ทำให้เสียทั้งเวลาเสียทั้งค่าใช้จ่ายในการขนส่ง จนทำให้สินค้าชิ้นส่วนไก่แช่แข็งไทยไม่สามารถทำราคาแข่งขันได้ในตลาด ผู้ประกอบการบางส่วนจึงยังคงเลือกที่จะเสี่ยงด้วยการนำสินค้ามาลงเรือที่เชียงแสนไปขึ้นฝั่งที่ท่าเรือสบหลวยของเมียนมาแล้วค่อยหาช่องทางพิเศษนำเข้าไปจีนอีกที ซึ่งนั่นเท่ากับว่า การขนส่งสินค้าทางเรือในแม่นํ้าโขงระหว่างไทย-จีน ที่ภาครัฐและเอกชนวาดหวังไว้ว่าจะทำให้การค้าชายแดนเชียงรายมีอัตราแบบก้าวกระโดดจึงยังไม่เกิดขึ้น

090861-1927-9-335x503

ทั้งนี้ท่าเรือกวนเหล่ย เป็น 1 ใน 4 ท่าเรือพาณิชย์ริมแม่นํ้าโขงของจีน อยู่ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 263 กิโลเมตร และเป็น 1 ใน 14 ท่าเรือพาณิชย์ในแม่นํ้าโขงของภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขงตอนบน(ไทย-เมียนมา-ลาว) ตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่นํ้าล้านช้าง-แม่นํ้าโขง ช่วงปี 2560 ที่ผ่านมาทางการจีนได้ทุ่มงบประมาณกว่า 60 ล้านหยวน หรือกว่า 300 ล้านบาท ปรับปรุงท่าจอดเรือของท่าเรือกวนเหล่ยให้สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งสร้างห้องเย็นขนาดใหญ่อุณหภูมิ ตํ่ากว่า -18 องศาเซลเซียส บนพื้นที่ 20,000 ตารางเมตรใกล้กับท่าเรือ ซึ่งจะสามารถรองรับ อาหารแช่แข็งได้มากถึง 3,800 ตันต่อวัน และสามารถหมุนเวียนอาหารแช่แข็งได้ปีละประมาณ 150,000 ตัน การพัฒนาท่าเรือกวนเหล่ยดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย One Belt One Road ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจมณฑลต่างๆ ทางตอนใต้ อันประกอบด้วยมณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวน และมณฑลกุ้ยโจว โดยได้อนุมัติให้สามารถนำเข้าสินค้าแช่แข็งที่ท่าเรือกวนเหล่ยได้ พร้อมทั้งให้สามารถนำสินค้าแช่แข็งที่ผ่านท่าเรือกวนเหล่ยส่งไปขายได้ทุกมณฑล เปลี่ยนไปจากเดิมสินค้าที่นำเข้าที่ท่าเรือกวนเหล่ยสามารถส่งขายได้แค่ภายในมณฑลยูนนานเท่านั้น

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,401 วันที่ 16-19 กันยายน 2561

e-book-1-503x62-7