"NIA" ดันไทยสู่ประเทศใช้นวัตกรรมเคลื่อน ศก.

14 ก.ย. 2561 | 08:38 น.
NIA เตรียมขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ Innovation Nation หวังสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรม 4 ด้าน การบ่มเพาะมหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของผู้ประกอบการภูมิภาค การส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพด้วยโปรแกรมที่เข้มข้น การพัฒนากลไกสนับสนุนการเติบโตให้กับนวัตกรรมที่มีศักยภาพสูง

รศ.ดร.วีระพงศ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การดำเนินงานของ NIA ได้ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ Innovation Nation หรือ ประเทศที่มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยแนวคิดดังกล่าวหลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ในหลาย ๆ ภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ไม่ว่าจะเป็น การกระตุ้นการเติบโตของ GDP การยกระดับคุณภาพชีวิต การสร้างงานในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดความเท่าเทียมทั้งในระดับภูมิภาคและส่วนกลาง ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาให้รุดหน้าอย่างรวดเร็ว


thumbnail_บรรยากาศในงานสัมภาษณ์พิเศษ (1)


สำหรับกลยุทธ์ในการก้าวสู่ Innovation Nation นั้น ไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรม NIA จึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาและส่งเสริมระบบนวัตกรรมของประเทศในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ เป้าหมายสำคัญของมหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ คือ การสร้างผู้ประกอบการที่เติบโตจากฐานความรู้และฐานงานวิจัย เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้และงานวิจัยไปขยายผล เกิดเป็นธุรกิจใหม่ที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการพลิกโฉมไปสู่มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ มีหัวใจสำคัญอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ การสร้างความเป็นผู้ประกอบการ การสร้างคุณค่าให้กับงานวิจัย และความเป็นเลิศด้านงานวิจัย

2.การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของผู้ประกอบการภูมิภาค NIA ได้ดำเนินโครงการ Regional Connect เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของผู้ประกอบการภูมิภาค โดยทำงานร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการและสมาคมธุรกิจในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยได้สนับสนุนทรัพยากรทางนวัตกรรมที่สำคัญ คือ เงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ ความรู้เชิงเทคนิคและวิชาการ การเข้าถึงบริการด้านห้องปฏิบัติการ (Laboratory Facilities) รวมทั้งกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของผู้ประกอบการ ซึ่งได้ดำเนินการให้มีความเท่าเทียมกับในระดับส่วนกลาง ทั้งด้านปริมาณ ความต่อเนื่อง และประสิทธิภาพ

3.การส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพ NIAในฐานะหน่วยงานนำของโปรแกรม Startup Thailand ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการเติบโตของ Startup ตั้งแต่การบ่มเพาะ (incubate) ไอเดียทางธุรกิจ การเร่งการเติบโต (accelerating) ของธุรกิจอย่างก้าวกระโดด การสนับสนุนด้านการเงินในลักษณะทุนให้เปล่า การเร่งให้เกิดการเปลี่ ยนแปลงเชิงระบบ และ 4.การพัฒนากลไกสนับสนุนการเติบโต (Growth Mechanism) ปัจจุบัน ยังมีนวัตกรรมที่มีศักยภาพสูงแต่ไม่ได้รับโอกาสการสนับสนุนให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้นวัตกรรมดังกล่าวไม่สามารถขยายผลหรือไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้

รศ.ดร.วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า NIA จึงมีกลไกสนับสนุนการเติบโต อาทิ 1) นวัตกรรมตลาด (Market Innovation) ที่ช่วยเชื่อมโยงผู้ประกอบการนวัตกรรมไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ 2) โครงการ MIND Credit ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงและใช้บริการจากบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาหรือขยายผลธุรกิจนวัตกรรม 3) โครงการนวัตกรรมไม่มีดอกเบี้ย ที่เป็นการให้ทุนสนับสนุนในรูปแบบดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับโครงการนวัตกรรมที่ต้องการขยายผลการลงทุน นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสถาบันเฉพาะทางเพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะความสามารถ และความเชี่ยวชาญทางนวัตกรรม เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของแต่ละภาคส่วนและระดับบุคลได้จริงและตรงจุด เช่น สถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (ABC Center) รวมถึงการพัฒนาย่านนวัตกรรมที่ทำให้เกิดธุรกิจ และแพลทฟอร์มยกระดับคุณภาพชีวิตรูปแบบใหม่ ๆ ในระดับพื้นที่ เป็นต้น



thumbnail_โปรแกรม STEAM 4 INNOVATOR_1


"การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Innovation Nation นั้น การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้เข้มแข็งด้านเดียวอาจยังไม่เพียงพอเท่าไรนัก NIA ยังได้วางเป้าหมายที่จะสร้างการเชื่อมโยงไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการประยุกต์ใช้และยกระดับการแข่งขันให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น อาทิ การปรับเปลี่ยนจากธุรกิจโภคภัณฑ์ไปสู่ธุรกิจนวัตกรรม ภาคการท่องเที่ยวที่ต้องก้าวสู่ การท่องเที่ยวเชิงอัจฉริยะ (Smart Tourism) มากขึ้น การสนับสนุนอุตสาหกรรมบริการทดแทนอุตสาหกรรมการผลิต การถ่ายทอดผลงานวิจัยและพัฒนา และเทคโนโลยี สู่เกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจ ชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการเข้าถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-CURVE) เช่น การแพทย์ ยานยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น"


เพิ่มเพื่อน ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว