ลุยผังไร้รอยต่อ! "กรุงเทพฯ-ปริมณฑล" รับโครงข่ายรถไฟฟ้า

18 ก.ย. 2561 | 13:36 น.
ปัจจุบัน การพัฒนาขยายตัวออกนอกกรุงเทพฯชั้นใน จากราคาที่ดินแพง การลงทุนโครงข่ายรถไฟฟ้า 10 สาย ส่งผลให้ผังเมืองต้องขยับ สอดรับการพลิกโฉมเมืองทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในอนาคต "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์ รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะทีมที่ปรึกษาการวางผังเมืองระดับภาคให้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง ถึงมุมมองการวางผังอย่างไรให้เกิดความสมดุล


3 ระดับผังเมือง
รศ.ดร.พนิต เล่าว่า ผังเมืองในบ้านเรามี 3 ระดับ ได้แก่ 1.ผังระดับนโยบาย ผังโครงสร้าง คือ ผังภาค 2.ผังเมืองรวม และ 3 ผังเฉพาะ ทั้งนี้ ผังระดับโครงสร้าง หรือ ผังภาค ตามหลักการจะกำหนดบทบาทหน้าที่ในภาพรวม ขนาดประชากรกับขนาดพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานอื่นได้นำไปวางผังเมืองพัฒนาโครงสร้างขนาดใหญ่หรือขนาดใหญ่พิเศษได้ เช่น ระบบจราจรจะวางเส้นไฮเวย์ จะวางเส้นรถไฟความเร็วสูง ทางคู่ ท่าเรือ สนามบิน ฯลฯ ซึ่งจะใช้บทบาทหน้าที่จำนวนประชากรเป็นตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้าประปา มีคนกี่คนที่อยู่ในพื้นที่และใช้ประโยชน์ที่ดินแบบไหน แน่นอนว่าจะมีความต่างกันออกไป สิ่งที่ควบคุม คือ การบริหารราชการแผ่นดินกับงบประมาณ ทั้งนี้ ผังตัวนี้ยังไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับเจ้าของที่ดิน แต่ยังไม่รู้ว่าที่ดินของคุณจะเป็นอะไร ผังนโยบาย หรือ ภาค ที่วางครอบคลุมทั้งกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลไม่บังคับใช้ตามกฎหมายโดยตรง แต่ทำหน้าที่กำหนดบทบาทของเมือง เพื่อให้ท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร ตลอดจนท้องถิ่นแต่ละจังหวัด นำไปออกข้อบังคับล้อตามผังภาคกำหนด

 

[caption id="attachment_317341" align="aligncenter" width="366"] รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา[/caption]

"ที่ดินของคุณอาจเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าโรงพยาบาล หรือ ที่อยู่ก็เป็นได้ แต่ผังฉบับนี้จะไม่เข้าไปยุ่งกับสิทธิ์บนที่ดิน อยากจะบอกว่า บทบาทของผังนโยบาย คือ ท้องถิ่นต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ขนาดใหญ่พิเศษ ว่า มีอะไรบ้าง เพื่อให้ ไฟฟ้า ประปา ขยะมูลฝอยไปลงอย่างเพียงพอ แต่ละเมืองจะมีประชากรอยู่ในระดับไหน มีสถานพยาบาลกี่แห่ง เราก็นำไปวาง และรัฐก็ต้องจัดหางบประมาณลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานตามนั้น พื้นที่เหล่านั้นอันนี้ คือ ผังภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑล"

ลำดับต่อมา คือ "ผังเมืองรวม" ผังแบบนี้จะมีกฎหมายรองรับว่า "ห้ามทำอะไรและให้ทำอะไร" ซึ่งกฎหมายส่วนหนึ่งบอกว่าห้าม แต่เป็นการรอนสิทธิ์โดยไม่จ่ายคืน ซึ่งขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญพื้นฐานว่าด้วยสิทธิ์เสรีภาพของประชาชน จะละเมิดมิได้ ยกเว้นความมั่นคงของประเทศ การเกณฑ์ทหาร การเกิดศึกสงคราม การคุ้มครองแรงงานเด็ก สวัสดิภาพเด็ก การคุ้มครองค้าประเวณี และการวางผังเมือง ฯลฯ เพื่อให้ออกพระราชบัญญัติการผังเมืองเพื่อรอนสิทธิ์ประชาชนได้ ทั้งนี้ อาจารย์พนิต อธิบายว่า การรอนสิทธิ์มี 2 รูปแบบ คือ การรอนสิทธิ์ในผังเมืองรวม คือ ไม่จ่ายคืน เพราะอยู่บนความปลอดภัยสาธารณสุข อนามัยสาธารณะ เป็นต้น การใช้ที่ดินแบบไหน หากไปใช้ที่ดินแบบผิดวัตถุประสงค์แบบสร้างโรงงานผลิตวัตถุระเบิด หรือ คุณจะสร้างศูนย์คมนาคมขนาดใหญ่ที่มีรถ 10 ล้อ 18 ล้อ วิ่งเข้าไปตลอดบริเวณที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก แบบนี้ผังเมืองให้ไม่ได้ แม้แต่ไปสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่ไฟฟ้า ประปา ไม่เพียงพอ ทำให้บ้านข้างเคียงไฟตก นํ้าไม่พอ ไม่มีนํ้าใช้ เป็นต้น และนี่คือ การรอนสิทธิ์ทางผังเมืองโดยไม่จ่ายคืน เพราะกระทบต่อชุมชนและผู้อื่น ทำให้ความเป็นอยู่ที่ดี สุขอนามัยลดลง


mp29-3401-b

ประเภทที่ 3 คือ "ผังเมืองเฉพาะ" หรือ ผังโครงการ ผังเมืองเฉพาะเป็นเรื่องของสาธารณะเช่นเดียวกัน โดยมีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสาธารณะอื่น ๆ เช่น เพื่อประวัติศาสตร์ ไม่มีใครเจ็บหรือเสียชีวิต แต่การรอนสิทธิ์กรณีนี้ ผังเมืองต้องจ่ายชดเชย ที่เห็นชัด คือ การรอนสิทธิ์จากการเก็บพื้นที่สีเขียวไว้เป็น "ปอด" อย่างพื้นที่บางกระเจ้า ทั้งนี้ รัฐต้องหากลไกมาชดเชย เพราะชาวบ้านเสียสิทธิ์ หากต้องการขายที่ดินให้กับหมู่บ้านจัดสรร

แต่มุมกลับ ผังเมืองในประเทศไทยยังไม่เคยมีผังเฉพาะบังคับใช้ เพราะต่างมองว่า เป็นเรื่องที่ยากเกินไป แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ถือเป็นเรื่องปกติ ทุกประเทศในโลกต่างใช้กลไกนี้ในการจ่ายคืน หากคุณจะเสียสละที่ดินเพื่อส่วนรวม เช่น ที่ริมอ่างเก็บนํ้า หรือ สวนสาธารณะ โดยไม่ให้คนอื่นเข้ามาใช้พื้นที่ฟรี ๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องผลักดันออกมา

"กฎหมายผังเมืองจากปี 2495 จนเปลี่ยนเป็น 2518 และปัจจุบัน มีการแก้ไขใหม่ แต่เราไม่ใช้ เพราะเราคิดว่ายาก ไม่มีใครต่อต้าน แต่หน่วยงานที่ถือกฎหมายไม่มีใคร "ยอมใช้และยอมจ่าย" เพราะต้องการของฟรีกับประชาชน"


พื้นที่ไหนควรวางผังเฉพาะ
มีพื้นที่จำนวนมากที่ควรเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ เช่น ตลาดนํ้าอัมพวา ต้องเก็บไว้เป็นผังเฉพาะ สามารถทำให้มีพื้นที่สาธารณะได้ หากท้องถิ่นเห็นว่า ทางเท้าแคบ สามารถออกผังเฉพาะขอพื้นที่ด้านละ 2 เมตร มาเป็นกึ่งสาธารณะ แล้วจ่ายชดเชยด้วยการให้สร้างอาคารได้สูงขึ้น แต่มีเงื่อนไขว่า ที่ดินทุกแปลงต้องยอมให้ใช้ที่ดิน


ผังเมือง

ซึ่งรูปแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่ทั่วโลกใช้กัน แต่บ้านเราไม่ยอมเสียงบประมาณ วิธีง่าย ๆ เพียงเซ็นสัญญาให้ใช้ที่ดินโดยไม่กั้นรั้วระหว่างกัน และยอมให้รัฐเข้าไปปรับปรุงพื้นที่ให้คนใช้ร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง เจ้าของที่ดินยังกู้แบงก์ได้เต็มสิทธิ์และแลกกับการสร้างอาคารสูงขึ้น


กำหนดโซนให้ท้องถิ่นวางผัง
พื้นที่ที่ส่งเสริมให้อนุรักษ์ ได้แก่ พื้นที่ชั้นในสุด คือ พื้นที่อนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ หมายรวมถึงริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ด้วยพื้นที่นี้ถูกสร้างให้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ พื้นที่จิตวิญญาณของประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์ที่มีมาแต่โบราณพื้นที่นี้ต้องเก็บไว้เพื่อการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม พื้นที่ครอบคลุม 30 ตารางกิโลเมตร

ขณะวงที่ 2 ทำเลอโศก-รัชดาฯ และจรัญสนิทวงศ์ จะเป็นเรื่องของพาณิชยกรรมธนาคาร การเงินการธนาคาร และที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก วงที่ 3 คือ วงแหวนรอบ 2 เส้น วงแหวนกาญจนาฯ เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และเริ่มมีที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่ที่ต่อกัน ตรงนี้จะครอบคลุมพื้นที่ของปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการบางส่วน และบางส่วนของ จ.นครปฐม

ขณะที่ ศูนย์กลางธุรกิจอยู่ย่านสีลม สาทร ต้องมีศูนย์กลางรอง กระจายอยู่ในวงแหวนชั้นใน 3 ศูนย์ คือ ศูนย์พหลโยธินทางตอนเหนือ ศูนย์มักกะสันทางตะวันออก ซึ่งเชื่อมโยงกับสุวรรณภูมิ และศูนย์ตากสินทางตอนใต้ ตัวนี้เป็นศูนย์การก่อสร้างที่จะเป็นศูนย์กลางรองที่จะเป็นพาณิชยกรรมด้านการเงินการธนาคาร


090861-1927

การแสดงสินค้าเชื่อมโยงเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ถัดออกมาจาก 3 ศูนย์ดังกล่าว ก็จะมี 6 ศูนย์ในวงแหวนรอบที่ 2

แยกเป็น 3 ศูนย์ ฝั่งทางกรุงเทพฯ และอีก 3 โซน ฝั่งธนบุรี ประกอบด้วย รังสิต-คลองหลวง สนามบินสุวรรณภูมิ ศูนย์กลางลาดกระบัง เมืองสมุทรปราการ ฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย บางใหญ่ พุทธมณฑล-ศาลายา และบางบอน

ใน 6 ศูนย์ จะมี 3 ศูนย์ รองรับย่านนวัตกรรมส่งเสริมเรื่องโซไซตีของไทยแลนด์ ที่จะออกมาจากสถาบันการศึกษา ทั้งนี้ หลักการของการวางผัง คือ สำรวจระดับ "ซีตีกับแซตเทลไลต์ทาวน์" เมืองบริวารโดยรอบ ประกอบด้วย นครปฐม หนองเสือ สมุทรปราการ บางบ่อ บางใหญ่ นนทบุรี สมุทรสาคร จะเป็นกลุ่มเมืองแซตเทลไลต์ทาวน์ที่ครบสมบูรณ์ในตัวเอง

อย่างไรก็ดี ร่างกรอบนโยบายผังภาคจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปลายปีนี้ เพื่อเป็นแนวทางให้ท้องถิ่นนำไปวางผังย่อยในพื้นที่ต่อไป

หน้า 29-30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,401 วันที่ 16-19 กันยายน 2561

e-book-1-503x62-7