กดเงินสดรูดปรื๊ดพุ่ง! ทั้งปีทะลุ 1.35 แสนล้าน เหตุแบงก์ลดค่าธรรมเนียม

17 ก.ย. 2561 | 01:29 น.
แบงก์มองเทรนด์ลูกค้ากดเงินสดผ่านบัตรเครดิตยังเพิ่มขึ้น! หลังสถาบันการเงินงัดแคมเปญลดค่าธรรมเนียมจาก 3% เสนอเปลี่ยนวงเงินบัตรกระตุ้นยอดกด ... "ไทยพาณิชย์" เผย ยอดเฉลี่ย 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ... "เคทีซี" ระบุ 5 เดือน 9.5 พันล้านบาท คาดทั้งปีตลาดเกิน 1.35 แสนล้านบาท ... "กรุงศรีฯ-ธนชาต" แนะลูกค้าใช้บัตรกดเงินสดแทน ไม่เสียค่าธรรมเนียม-ดอกเบี้ย

 

[caption id="attachment_317550" align="aligncenter" width="503"] ณรงค์ ศรีจักรินทร์ ณรงค์ ศรีจักรินทร์[/caption]

นายณรงค์ ศรีจักรินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Wealth Segment และผู้บริหารสูงสุด Wealth Products ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สัดส่วนการกดเงินสดต่อยอดการใช้บัตรโดยรวมของไทยพาณิชย์ยังคงที่อยู่ที่ระดับอัตรา 5.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อยู่ที่ 5.2% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ถือว่ามีอัตราเติบโตไปในทิศทางเดียวกับอัตราการใช้บัตรโดยรวมของธนาคาร ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังคงที่ 1% ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่ธนาคารมีเกณฑ์การอนุมัติบัตรเครดิตที่เข้มงวดและรัดกุม เพื่อให้ธุรกิจบัตรเครดิตเติบโตแบบยั่งยืนและอยู่บนความเสี่ยงที่ควบคุมได้

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี กล่าวว่า ภาพรวมการกดเงินสด (Cash Advance) ของระบบ มีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นว่า ในช่วง 5 เดือนแรก ทั้งระบบมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 9% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 5.7 หมื่นล้านบาท เทียบยอดกดเงินสดทั้งปีของปี 2560 ระบบมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 2% คิดเป็นมูลค่าราว 1.35 แสนล้านบาท คาดว่าในปีนี้น่าจะขยายตัวมากกว่าปีก่อนได้

ขณะที่ เคทีซีไม่ได้เน้นการเติบโต หรือ ส่งเสริม หรือ กระตุ้น ให้ลูกค้ากดเงินสดจากบัตรเครดิต โดยให้การเติบโตเป็นตามความต้องการของลูกค้า หรือ โตตามธรรมชาติ ทำให้เห็นการเติบโตขึ้นและลง เช่น บางเดือนขยายตัวหรือบางเดือนติดลบ ทั้งนี้ ตัวเลขในช่วง 5 เดือนแรก มีอัตราการเติบโตไม่ถึง 1% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,500 ล้านบาท ซึ่งเทียบกับปีก่อน ตัวเลขมีอัตราการเติบโตติดลบ 2% คาดว่าปีนี้ทั้งปีอาจจะทรงตัว หรือ ขยายตัวไม่มาก

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการแข่งขันของตลาดทั้งระบบ มีบางสถาบันการเงินได้ออกแคมเปญกระตุ้นออกมาให้เห็นบ้าง เช่น การเปลี่ยนวงเงินในบัตรเป็นวงเงินกดเงินสด หรือ ลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเคทีซีจะแตกต่างจากภาพตลาด เนื่องจากบริษัทไม่ได้มีแคมเปญหรือส่งเสริมให้ลูกค้าเปลี่ยนวงเงินแต่อย่างใด


MP24-3401-A

"การกดเงินสด เราไม่ได้เน้นมาก ปล่อยให้โตตามธรรมชาติ แต่จะเห็นบางธนาคารออกมาเล่นบ้าง เช่น ให้ลูกค้าเปลี่ยนวงเงินบนบัตรได้ แต่เราไม่ได้ทำ ซึ่งปีก่อนก็เติบโตติดลบ ซึ่งจะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โตไม่มาก"

นายสมหวัง โตรักตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มการใช้บัตรเครดิตกดเงินสดนั้น มองว่าภาพรวมยังมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น จะเห็นว่ามีสถาบันการเงินบางส่วนออกมาโปรโมทไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมกดเงินสด จากเดิมที่เรียกเก็บ 3% แต่ในส่วนของบริษัท ไม่ได้เน้นให้ลูกค้ากดเงินสดมากนัก

หากลูกค้ามีความต้องการกดเงินสดก็จะมี "บัตรกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์" ที่จะตรงกลุ่ม เพราะมีบัตรกดเงินสด ปัจจุบัน ยอดกดเงินโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 7,000-8,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 3-4% ของพอร์ต ถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตลาด และคาดว่าปีนี้ยอดกดเงินสดของบริษัทน่าจะใกล้เคียงในระดับดังกล่าว

นางธีรนุช ขุมทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจลูกค้ารายย่อย บมจ.ธนาคารธนชาต กล่าวว่า แนวโน้มกดเงินสดผ่านบัตรเครดิตของธนาคารธนชาตไม่ได้ขยายตัว หรือ เติบโตมากนัก แต่ค่อนข้างทรงตัวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารไม่ได้แนะนำให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตกดเงินสด แต่จะแนะนำลูกค้าใช้บัตรกดเงิน หรือ บัตรสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ที่มีอยู่ในตลาดแทน เพราะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 3% และดอกเบี้ยเหมือนบัตรเครดิต เพราะปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีให้ลูกค้าเลือกใช้ตามความต้องการและเหมาะสม  อย่างไรก็ดี จะเห็นสถาบันการเงินบางแห่งอาจจะมีแคมเปญพิเศษเสนอลูกค้าให้เห็นบ้างในตลาดตอนนี้ แต่ในส่วนของธนชาตไม่มีแคมเปญ

ซึ่งโดยปกติ อัตราการเติบโตกดเงินสดผ่านบัตรเครดิตของธนชาตจะทรงตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยปัจจุบัน มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500-3,000 ล้านบาท

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,401 วันที่ 16 - 19 กันยายน พ.ศ. 2561


เพิ่มเพื่อน


e-book-1-503x62-7