เอดีบีบุกไทยขายไอเดียMP3F เสนอกองทุนใหม่เป็นแหล่งเงินเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม

18 ก.พ. 2559 | 02:00 น.
เอดีบีผนึกแคนาดา-ญี่ปุ่น-ออสเตรเลียบุกคมนาคมเสนอลงทุนและที่ปรึกษาเมกะโปรเจ็กต์ ด้าน "ออมสิน" เตรียมประเคนโครงการเมกะโปรเจ็กต์พีพีพีให้เลือกดำเนินการ ครอบคลุมทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ สนามบินและท่าเรือ ให้เจรจากับแต่ละหน่วยงานนั้นๆได้โดยตรงจนกว่าจะสามารถหาแหล่งทุนไปดำเนินโครงการให้สำเร็จได้จริง ด้านทล.จ่อเสนอโครงการอีกเพียบรอกระบวนการชัดเจนพร้อมเสนอทันที ล่าสุดกูมาแล้ว 2 โครงการงบไม่น้อยกว่า 3 พันล้านบาท

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง นายริวอิจิ คากะ หัวหน้าฝ่ายความเป็นหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชน ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี)และคณะเข้าพบ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทยทั้งด้านวิชาการและเงินทุน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางรถไฟระหว่างเมือง (Intercity Rail Project) ในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) รวมถึงการแนะนำกองทุนโครงการใหม่ของ ADB (AP3F) สำหรับการสนับสนุนการเตรียมการของโครงการต่างๆ อีกทั้งยังพร้อมจับมือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วโลกเข้ามาให้ความช่วยแหลือแก่ประเทศไทย

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจุดแข็งด้านการลงทุนจะเห็นว่าเอดีบีก็พร้อมจะลงทุนร่วมด้วยทันที และหน่วยงานต่างๆในประเทศอื่นๆก็พร้อมจะให้ความช่วยเหลือได้อีกด้วย นอกจากนั้นเอดีบียังนำเสนอรูปแบบการลงทุนที่เรียกว่า MP3F ที่เป็นการร่วมลงทุนจาก 3 ประเทศสำคัญๆ โดยจัดเป็นการลงทุนของประเทศญี่ปุ่น 40 ล้านเหรียญสหรัฐ แคนาดา 20 ล้านเหรียญแคนาดา และออสเตรเลีย 10 ล้านเหรียญออสเตรเลีย และเอดีบี 10 ล้านเหรียญสหรัฐโดยเป็นเงินลงทุนที่ต้องการช่วยในช่วงดีเวล็อปเมนต์โครงการนั้นๆซึ่งจะใช้งบประมาณ 5% ของโครงการ คือช่วงการศึกษาความเหมาะสม ไปจนถึงการออกแบบรายละเอียดเพื่อให้โครงการเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง

"ประการสำคัญทางเอดีบีทราบดีอยู่แล้วว่ามีโครงการใดบ้างโดยกระทรวงคมนาคมพร้อมนำเสนอโครงการที่จัดอยู่ในโครงการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(พีพีพี)พ.ศ.2556 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจัดอยู่ในโครงการลงทุนระยะเร่งด่วน(พีพีพีฟาสแทร็ค)รองรับไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านระบบราง ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) โดยเบื้องต้นแจ้งให้ไปประสานงานกับหน่วยงานนั้นๆได้โดยตรง อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ที่จะเป็นลูกค้ารายสำคัญ เช่นเดียวกับกรมทางหลวง(ทล.) หรืออีกหลายหน่วยงานที่ดูแลโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ที่จะต้องใช้รูปแบบร่วมลงทุน"

สำหรับโครงการที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอให้เอดีบีพิจารณา อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค,บางซื่อ-ท่าพระ มอเตอร์เวย์ เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา และเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง(ท่าเทียบเรือ A) โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1(SRTO) โครงการสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี โครงการรถไฟสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-พระประแดง รวมงบประมาณการลงทุนกว่า 1.6 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีโครงการต่างๆตามแผนปฏิบัติการ(แอ๊คชั่นแพลน)อีกหลายโครงการที่จะเร่งผลักดันในปี 2559 เป็นต้นไป

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีด้านวิชาการ กรมทางหลวง(ทล.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาทล.ได้กู้เงินของเอดีบีไปก่อสร้างถนนจำนวน 2 เส้นทาง รวมงบไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทซึ่งใกล้จะผ่อนชำระหมดแล้ว คือ เส้นทางสาย 12 ช่วงหล่มสัก-พิษณุโลก และเส้นทางพนมสารคาม-สระแก้ว

"สำหรับ 2 โครงการดังกล่าวนี้จะเป็นการใช้บริการรูปแบบเงินค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง การใช้บริการเอดีบีช่วงที่ผ่านมาจะต้องผ่านการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ และผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย แต่ในการดำเนินแต่ละโครงการทล.จะใช้งบประมาณจากเงินกู้ส่วนหนึ่ง และงบประมาณของรัฐส่วนหนึ่ง หากเปรียบเทียบกับแหล่งเงินกู้อื่นๆ อาทิ ธนาคารโลก(เวิลด์แบงค์) หรือ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(ไจก้า) จะพบว่ามีความยากง่ายแตกต่างกันไป"

ทั้งนี้เมื่อการกู้เงินในรอบที่ผ่านมาครบถ้วนในการชำระเงินให้กับเอดีแล้วทล.ก็พร้อมจะนำเสนออีกหลายโครงการให้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณไปดำเนินการ ขณะนี้รอเพียงกระบวนการแล้วเสร็จเท่านั้นก็จะนำเสนอได้ทันที ส่วนกรณีเงินกู้จากไจก้าส่วนใหญ่จะเป็นเงินสนับสนุนมากกว่าการกู้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559