ดัน 'ฟูโซ่' สู้ "อีซูซุ-ฮีโน่ เดมเลอร์" เล็งประกอบบัส-ทรักแบรนด์เบนซ์

18 ก.ย. 2561 | 05:15 น.
"เดมเลอร์" เทงบ 450 ล้านบาท ผุดโรงประกอบ "ฟูโซ่" ป้อนตลาดไทย พร้อมรวบการดูแลรถบัส-รถบรรทุกเมอร์เซเดส-เบนซ์ เล็งซีเคดีในอนาคต ด้าน "วอลโว่" ดันยอดยูดีและวอลโว่ ทรัคส์ ชูบริการหลังการขาย ขณะที่ ผู้นำตลาด "อีซูซุ" สวนหมัดเด็ดเปิดตัวรุ่นใหม่พร้อมข้อเสนอพิเศษ

การแข่งขันของตลาดรถบรรทุกช่วงนี้ ดุเดือดไม่แพ้รถเก๋ง หรือ กลุ่มรถปิกอัพ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นจากจีดีพีที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ของรัฐที่เริ่มเดินหน้า ทำให้ความต้องการใช้รถกลุ่มนี้มีเพิ่มมากขึ้น

โดยภาพรวมตลาดรถบรรทุกขนาดใหญ่ 7 เดือนที่ผ่านมา เติบโต 11% หรือจำนวน 1.05 หมื่นคัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีจำนวน 8,800 คัน ขณะที่ ตลาดรถบรรทุกขนาดกลางมียอดขาย 4,700 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นที่ทำได้ 4,200 คัน

แนวโน้มความต้องการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การแข่งขันในช่วงนี้เป็นไปอย่างคึกคัก ล่าสุด น้องใหม่แต่ชื่อไม่ใหม่อย่าง "ฟูโซ่" ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท เดมเลอร์ คอมเมอร์เชียล วีฮีเคิลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ดีซีวีที ได้ประกาศการลงทุน 450 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานประกอบรถบรรทุกโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศซีเคดีหรือแบบคอมพลีต น็อกดาวน์


MP32-3401-A

สำหรับโรงงานใหม่แห่งนี้จะตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง และเริ่มผลิตได้ในเดือน พ.ย. 2562 มีกำลังการผลิต 4,000 คัน โดยรถรุ่นแรกที่จะผลิตออกมา คือ ฟูโซ่ FJ 25280  ซึ่งจะป้อนตลาดในประเทศเป็นหลัก

"การเข้ามาตั้งโรงงานประกอบในประเทศไทย ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าผู้ใช้รถของเรา เพราะแต่เดิมภาพลักษณ์อาจจะไม่ค่อยดีเท่าไร อีกทั้งยังมีการขยายเครือข่ายดีลเลอร์จาก 12 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 24 แห่ง ทั้งหมดนี้ คือ การสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า" นายซาซ่า ริคาเน็ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีซีวีที กล่าวและว่า

ในปี 2560 ฟูโซ่มียอดขาย 191 คัน และ 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. - ส.ค. 2561) มียอดขาย 300 คัน คาดว่าจนถึงสิ้นปีตัวเลขการขายจะเติบโตเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นอกเหนือจากการเป็นฐานการผลิตฟูโซ่แล้ว ในอนาคตยังมีแผนงานที่จะผลิตรถบรรทุกและรถบัส ภายใต้แบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์อีกด้วย

นายไมเคิล เคมเปอร์ รองประธานอาวุโส หัวหน้าฝ่ายการตลาด การขาย และการบริการลูกค้ารถบรรทุกในภูมิภาคเอเชียของมิตซูบิชิ ฟูโซ่ ทรัคแอนด์บัส คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ต้องการจะบริหารงานรถบรรทุกให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยในไทย ดีซีวีที จะดูทั้ง 2 แบรนด์ คือ ฟูโซ่และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อและเป็นที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"ธุรกิจรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ จะถูกสานต่อโดยดีซีวีที ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งฟูโซ่และรถบัส รถบรรทุกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ โดยการรวมตัวกันครั้งนี้จะทำให้ดีซีวีทีสามารถส่งมอบโซลูชันคุณภาพแก่ลูกค้า อาทิ การบริการแบบครบวงจร ทั้งรถยนต์ที่ประกอบเองทั้งคัน, บริการลีสซิ่ง, บริการโพรเทกชัน แอนด์ เซอร์วิสเซส ที่จะครอบคลุมถึงผู้ใช้ของเมอร์เซเดส-เบนซ์เช่นเดียวกัน" นายไมเคิล กล่าว

เรียกว่า เตรียมแผนกลับมากู้ชื่อและกู้ยอดขาย สำหรับแบรนด์ฟูโซ่ในไทย ที่แต่เดิมรั้งเบอร์ 3 ของตลาดรถบรรทุกในประเทศไทย เป็นรองแค่ฮีโน่และอีซูซุคง ต้องรอดูว่าการกลับมาครั้งนี้จะทำให้พวกเขากลับขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งเดิมได้หรือไม่

แต่ที่แน่ ๆ ตลาดนี้ไม่ง่าย เพราะผู้เล่นทั้งแบรนด์ยุโรปและแบรนด์ญี่ปุ่น ต่างสวนหมัดเด็ดทันควัน เริ่มตั้งแต่ค่ายวอลโว่ กรุ๊ป ที่มีทั้งวอลโว่ ทรัคส์ และยูดี ทรัคส์ ออกมาฉลองการผลิตรถยูดีรุ่นเควสเตอร์ครบ 1.5 หมื่นคัน โดยรถรุ่นดังกล่าวได้เริ่มผลิตในปี 2556 ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทย ที่มีกำลังการผลิตรวม 2 หมื่นคันต่อปี แบ่งออกเป็นผลิตเพื่อการส่งออก 90% และป้อนตลาดในประเทศ 10% โดยส่งออกไปยัง 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งโรงงานแห่งนี้ถือเป็นแห่งแรกที่อยู่นอกประเทศญี่ปุ่น


090861-1927-9-335x503

"ยอดขายหลักๆของยูดีมาจากรุ่นเควสเตอร์ ประมาณ 410  คัน และในรุ่นโครนเนอร์ ประมาณ  50 คัน ส่วนกำลังการผลิตของทั้ง 2 รุ่น แบ่งออกเป็น เควสเตอร์  5,000 คันต่อปี และโครนเนอร์  2,000 คันต่อปี ขณะที่ ตลาดที่ส่งออกไปนั้น ประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย, แอฟริกาใต้ และไทย มียอดขายรองลงมาจากทั้ง 2 ประเทศ" นายฌาคส์ มิเชล ประธาน บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป ทรัคส์ เอเชีย และเจวีเอส เซลส์ จำกัด กล่าวและว่า

ส่วนผลการดำเนินงานของ วอลโว่ กรุ๊ป ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ยูดี ทรัคส์ มียอดขาย 470 คัน เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อนที่ทำได้ 410 คัน ส่วนแบรนด์วอลโว่ ทรัคส์ ทำได้ 150 คัน ลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ 175 คัน

ด้าน นายกำลาภ ศิริกิตติวัฒน์ ประธาน บริษัท ยูดี ทรัคส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ทิศทางของบริษัทมุ่งดูแลลูกค้า โดยได้เพิ่มโมบายเซอร์วิสมีอะไหล่และบริการหลังการขาย เพื่อดูแลลูกค้าได้ที่ไซต์งาน ขณะที่ เครือข่ายดีลเลอร์ในปัจจุบันมีจำนวน 14 แห่ง

ปิดท้ายที่ผู้นำในตลาด อย่าง "อีซูซุ" ที่งัดหมัดเด็ดเปิดตัวอีซูซุ  FRR ใหม่ รถบรรทุก 6 ล้อ ขุมพลังดีเซล "อีซูซุ ซูเปอร์คอมมอนเรล" 210 แรงม้า และ 190 แรงม้า รองรับงานบรรทุก ด้วยแชสซีส์ขนาดใหญ่ บรรทุกได้มากกว่าถึง 10.4 ตัน (GVW) (ในรุ่น FRR90LNXXU, FRR90LSXXU, FRR90NNXXU, FR90NSXXU) เพลาหน้า-หลังขนาดใหญ่ รับนํ้าหนักได้สูง เพื่อการบรรทุกหนัก เพลาข้าง และเฟืองท้ายขนาดใหญ่ แข็งแรง ทนทาน ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,444,000 - 1,546,000 บาท (ราคานี้ยังไม่รวมระบบ "มิมาโร" ระบบอัจฉริยะเพื่อการขนส่ง และ "เทเลเทค" มิติใหม่แห่งเทคโนโลยีโลจิสติกส์) และพิเศษรับประกันนานถึง 5 ปี ไม่จำกัดระยะทางสำหรับผู้ที่ซื้อรถตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 ธ.ค. นี้

ถือเป็นช่วงที่แข่งกันดุสำหรับตลาดรถบรรทุก ยิ่งเข้าสู่ช่วงปลายปีที่โครงการต่าง ๆ จากภาครัฐจะมีการอนุมัติ และการประกาศเลือกตั้ง คาดว่าจะเป็นอานิสงค์ที่ทำให้ตลาดรถบรรทุกระอุมากขึ้น

หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,401 วันที่ 16 - 19 กันยายน พ.ศ. 2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว