การเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า ลงทุนอีกสักนิด เพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

20 ก.พ. 2559 | 05:00 น.
ปัจจุบันโครงข่ายรถไฟฟ้านับว่ามีบทบาทอย่างมากสำหรับการเดินทาง เพราะสามารถรองรับผู้โดยสารจำนวนมาก และเข้าถึงจุดต่างๆ ทั้งในเมือง และเชื่อมต่อไปยังสถานีที่มีโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างเมืองได้ โดยการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะต้องเดินทางผสมผสานกับรูปแบบอื่นๆ (mixed-mode commuting) เช่น รถเมล์ รถจักรยาน รถแท็กซี่ รถยนต์ส่วนตัว ฯลฯ

การเดินทางเชื่อมต่อกันให้มีประสิทธิภาพที่ดีนั้นจำเป็นต้องออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ เพื่อให้ผู้เดินทางสามารถเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และประหยัด เป้าหมายหลักที่สำคัญของการพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทางให้สะดวก ก็เพื่อให้ผู้เดินทางลดการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว (private car) ให้หันมานิยมเดินทางโดยรถขนส่งสาธารณะ (mass transit) ให้มากขึ้นนั่นเองสำหรับสัดส่วนของค่าลงทุนการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าลงทุนก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า ดังนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการเดินทางเชื่อมต่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางต่อเนื่องไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวก

โดยสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่ต้องมีสำหรับผู้เดินทาง ได้แก่ แผนที่ แสดงทิศทางเพื่อไปจุดที่สำคัญๆ ได้แก่ โรงแรม ป้ายรถเมล์ จุดจอดรถแท็กซี่ จุดให้บริการข้อมูล ป้ายบอกเส้นทาง เป็นการให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้เดินทางสามารถเดินไปเชื่อมต่อการเดินทางได้สะดวก การให้บริการข้อมูล (Information service) เนื่องจากในบางสถานีที่มีนักท่องเที่ยวหรือคนต่างถิ่นจำนวนมาก อาจจัดเตรียมจุดบริการให้ข้อมูล ข้อมูลที่จำเป็น ได้แก่ การแนะนำสถานที่ที่สำคัญต่างๆ ของเมือง จุดน่าสนใจ สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ลิฟต์ ราวจับยึด เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ทุพพลภาพที่จะเดินก้าวขึ้น-ลงต่างระดับ อุปกรณ์เสริมการเดินทางสำหรับผู้พิการทางสายตา แผ่นพื้นกระเบื้องสีเหลืองมีปุ่มนูน เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญให้ผู้พิการทางสายตาใช้ไม้เท้าคลำเพื่อช่วยนำทาง

ส่วน อักษรเบรลล์ (braille) เป็นอักษรที่ใช้คลำเพื่อสื่อภาษา จะใช้ในบางจุด เช่น ลิฟต์ จุดบริการอาหารและเครื่องดื่ม (kiosk) จุดบริการอาหาร เครื่องดื่ม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้เดินทางที่ต้องการหยุดพักระหว่างเดินทาง นอกจากนี้ผู้เดินทางยังอาจต้องการซื้อสิ่งของอื่นๆ เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ จุดรับฝากสัมภาระ ผู้เดินทางอาจจำเป็นต้องฝากสัมภาระ สิ่งของไว้ที่สถานี เพื่อความคล่องตัวในการเดินทางเพื่อไปประกอบกิจธุระแล้วกลับมาที่สถานีอีก

 การเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน

การเดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้ากับระบบขนส่งมวลชน (mass transit) เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางที่สำคัญ ซึ่งระบบขนส่งมวลชนอาจจะเป็นรถไฟฟ้า หรือรถเมล์ เราควรส่งเสริมการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางประเภทนี้มากที่สุด เพราะเป็นระบบที่รองรับผู้โดยสารจำนวนมาก หากมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับให้ผู้โดยสารอย่างพอเพียงแล้ว จะช่วยให้ผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายรถได้รวดเร็ว การไหลของผู้โดยสารคล่องตัวจะช่วยลดความแออัดที่สถานี

สิ่งอำนวยความสะดวกที่ควรจัดเตรียมเพื่อการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารกับระบบขนส่งมวลชน ได้แก่ ระยะการเดิน เพื่อต่อรถโดยสารต้องไม่ไกลมากนัก หากรถโดยสารที่ต้องการเปลี่ยนถ่ายอยู่บนชานชาลาเดียวกันกับรถไฟฟ้าที่โดยสารมาก็จะสะดวกมากที่สุด ในกรณีที่สถานีรถโดยสารอยู่ห่างออกไปก็ต้องออกแบบทางเดินเชื่อมต่อรองรับผู้โดยสารให้สามารถเดินได้สะดวก อาจจำเป็นต้องใช้ทางเดินอัตโนมัติ (moving walkway) หรือจัดรถรับ-ส่ง (shuttle bus) หากมีระยะทางไกลมาก เส้นทางเดินรถ ควรเพิ่มเส้นทางเดินรถเมล์ (feeder bus) โดยเฉพาะแนวเส้นทางเดินรถที่ตั้งฉากกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้า เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับชุมชนที่อยู่ห่างจากสถานี ให้สามารถเดินทางได้สะดวกตารางเวลาเดินรถ ตารางเวลาเดินรถที่สอดรับกัน จะไม่ทำให้ผู้โดยสารต้องเสียเวลารอรถนาน หรือรถที่มารอหยุดรับผู้โดยสารเสียเวลาหยุดรอที่สถานีนาน

ในกรณีรถขนส่งมวลชนที่มาเชื่อมต่อมีความถี่มาก อาจไม่จำเป็นต้องมีตารางเวลา ป้ายรถเมล์หรือสถานีจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร สถานีหรือป้ายจอดรถโดยสารต้องชัดเจน และไม่กีดขวางการจราจร ระบบตั๋วค่าโดยสาร ระบบตั๋วโดยสารต่อเนื่องใช้ตั๋วใบเดียว หรือใช้ระบบการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ใบเดียวใช้ร่วมกันทั้งระบบรถไฟฟ้าและรถขนส่งมวลชนที่มาเชื่อมต่อ จะช่วยให้ผู้โดยสารไม่ต้องเสียเวลาชำระค่าโดยสารหลายครั้ง
จุดที่ควรออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าและระบบรถขนส่งมวลชน เช่น จัดรถบริการเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีสวนจตุจักร กับรถ บขส. ที่สถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิตใหม่) ออกแบบทางเดินเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีเพชรบุรี กับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ที่สถานีมักกะสันเพื่อเดินทางต่อไปยังสนามบินสุวรรณภูมิคราวหน้าอย่าลืมติดตามเรื่อง การเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางจักรยาน-รถยนต์ส่วนตัว ว่าควรจะออกแบบมาอย่างไรจึงจะเหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้บริการในปัจจุบันเพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นอีกเมืองที่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปสามารถใช้เส้นทางจักรยานได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย นั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559