ยึดที่สำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม651ไร่ ปั้นเขตศก.พิเศษเชียงแสน ดันส่งออก-ท่องเที่ยวเชื่อมเพื่อนบ้าน

18 ก.พ. 2559 | 04:00 น.
จากกระแสการใส่เม็ดเงินลงระบบโครงสร้างพื้นฐาน รองรับ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายของรัฐบาล ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับสูงขึ้น โดยเฉพาะทำเลบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ โดยดูได้จากราคาประเมินที่ดินใหม่ของกรมธนารักษ์ ขยับสูงจากราคาประเมินเดิม 60-100% อยู่ที่ 2.5 หมื่นบาทต่อตารางวา และราคาซื้อขายตลาดที่คนในพื้นที่ยอมรับว่าสูงกว่าราคาประเมินรัฐหลายเท่าตัว ส่งผลให้การลงทุนในพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก จนต้องมองหาที่ดินรัฐเพื่อเช่าในระยะยาวกันมากขึ้น

[caption id="attachment_31852" align="aligncenter" width="700"] vmasฟหกวดา่ การคัดเลือกพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย[/caption]

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบตามที่จังหวัดเชียงรายและคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) เสนอเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา เลือกที่ดินรัฐซึ่งเป็นที่ดินส.ป.ก. ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตั้งนิคมอุตสาหกรรมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเพื่อให้เอกชนเช่าราคาถูก

โดยแปลงที่ดินที่เหมาะสมตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงราย จำนวน2 แปลง เนื้อที่รวม 651-3-52 ไร่ ทั้งนี้ที่ดินแปลงที่ 1 เนื้อที่ 298-0-22ไร่ อยู่ติดกับท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน และอีกแปลงเนื้อที่ 353-3-30ไร่ อยู่ฝั่งตรงกันข้าม โดยมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1129 (เชียงแสน-เชียงของ) คั่นกลาง

จากพื้นที่ทั้งหมดตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่กำหนดให้ อำเภอเชียงแสนเป็น 1ใน 3 พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ครอบคลุม อำเภอเชียงแสน 6 ตำบล พื้นที่ประมาณ 455.65 ตารางกิโลเมตร หรือ จำนวน 2.8 แสนไร่ ประกอบด้วย ตำบลบ้านแซว ตำบลป่าสัก ตำบลแม่เงิน ตำบลโยนก ตำบลเวียง ตำบลศรีดอนมูล

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมแปลงที่ดินประกอบด้วย พื้นที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1129 (เชียงแสน-เชียงของ) แปลงที่ดินติดกับถนนเข้าท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน พื้นที่มีไฟฟ้าเข้าถึง แปลงที่ดิน ติดกับท่าเรือ 298-0-22 ไร่ ไม่มีสิ่งปลูกสร้างมีการถือครองที่ดิน 48 แปลงแยกเป็นผู้ถือครอง 1 แปลง 43 ราย ถือครอง 2 แปลง 3 ราย และถือครอง 3 แปลง 1 ราย

ที่ดินอีกแปลงฝั่งตรงกันข้าม 353-3-30ไร่ พบว่ามีสิ่งปลูกสร้างประมาณ 80-100 หลังคาเรือน (ด้านใต้) และมีที่ดิน 54 แปลงมีผู้ถือครอง 49 ราย ในจำนวนนี้ ถือครองที่ดิน 2 แปลงจำนวน 3 ราย และถือครองที่ดิน 3 แปลง จำนวน 1 ราย แหล่งน้ำที่เข้าถึงพื้นที่คือแม่น้ำกก ทั้งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้ที่ดินดังกล่าวทำการเกษตรพืชไร่ซึ่งเป็นไร่ข้าวโพดในรูปแบบ " คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง"

จุดเด่นของแปลงที่ดิน วิเคราะห์ว่าที่ดินเป็นของรัฐผืนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันหายากมากในอำเภอเชียงแสน และเป็นทำเลที่มีศักยภาพตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของท่าเรือติดแม่น้ำโขง ซึ่งสะดวกต่อการขนส่งสินค้า และท่องเที่ยวทางน้ำ อีกทั้งยังติดกับถนนเชียงแสน-เชียงของ ที่กรมทางหลวงขยายเขตทางจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจรครบตลอดสายทาง ซึ่งสะดวกต่อการขนส่งสินค้าและสัญจรทางบก เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา สปป.ลาว และ จีน เป็นต้น ขณะที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงรายออกมาระบุว่า มีชาวบ้านไม่น้อยกว่า 50 รายที่ที่ทำกินได้รับผลกระทบ ซึ่งถูกทำเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงแสน

แม้ที่ ส.ป.ก.บริเวณท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนจะมีศักยภาพสูง และ กนพ.จะใช้มาตรา 44 แห่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ. 2557 ถอนสภาพจากไร่ข้าวโพดของชาวบ้านให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษก็ตาม

แต่...ต้องจับตาดูต่อไปว่า พื้นที่นี้จะยืดเยื้อเหมือนอำเภอแม่สอดจังหวัดตากหรือไม่!!!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559