"Husk’s Ware" เครื่องครัวจากธรรมชาติ เจาะตลาดคนรุ่นใหม่

14 ก.ย. 2561 | 05:53 น.
เครื่องครัวจากวัตถุดิบธรรมชาติปรับกลยุทธ์เข้าทำตลาดในไทย หวังเจาะกลุ่มผู้รักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หลังออกไปทำตลาดต่างประเทศจนมีลูกค้าส่งออกกว่า 10 ประเทศ ชูจุดเด่นความเป็นธรรมชาติสามารถย่อยสลายได้เอง

นายธราพัชร์ ชัยสุทธิโรจน์ เจ้าของแบรนด์ "ฮัสค์ แวร์" (Husk’s Ware) ผู้ผลิตและจำหน่ายภาชนะประเภทเครื่องครัวจากวัตถุดิบธรรมชาติประเภทเปลือกข้าว หรือ แกลบ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มนำผลิตภัณฑ์เข้ามาทำตลาดในประเทศอีกครั้ง โดยเปิดเป็นร้านเพื่อจำหน่ายที่สยามดิสคัฟเวอรี่ของบริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเปิดโซน "อีโคโทเปีย" (Ecotopia) เพื่อเจาะกลุ่มผู้ที่รักสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ก็ยังมีช่องทางการจำหน่ายรูปแบบออนไลน์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก (huskswarethailand), ไลน์แอด (@huskswarethailand) และอินสตราแกรม หรือ ไอจี (huskswarethailand)

"การทำตลาดในประเทศไทยช่วงแรก เราดำเนินการในรูปแบบของการร่วมมือกับบริษัท ร้านอาหาร และร้านกาแฟ ในการเป็นผู้ผลิตภาชนะให้ และต่อยอดไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภคโดยตรง"

ทั้งนี้ เดิมทีกลยุทธ์การทำตลาดของบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่ตลาดต่างประเทศมากกว่า เนื่องจากเคยทดลองนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแล้ว แต่กระแสตอบรับในช่วงนั้นยังไม่ค่อยดีเท่าใดนัก โดยปัจจุบัน บริษัทมีลูกค้าจากการส่งออกมากกว่า 10 ประเทศ ทั้งสหรัฐอมริกา, แม็กซิโก, แคนาดา, เยอรมนี, ออสเตรีย, อังกฤษ, สเปน, รัสเซีย ส่วนทางโซนเอเชียก็มีทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไทย, ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์ และมาเลเซีย จนทำให้มียอดขายมากมายจากการส่งออกสินค้าไปสู่นานาประเทศ



husk1


นายธราพัชร์ กล่าวต่อไปอีกว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ "ฮัลส์ แวร์" อยู่ที่การนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์มาสร้างให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นเรื่องความปลอดภัยและสามารถนำกลับมาใช้งานได้ยาวนาน ไม่เหมือนกับกระดาษที่ใช้งานได้เพียงครั้งเดียว โดยเข้ากับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่นิยมใช้ของที่เป็นแบบรีไซเคิลมากขึ้น อีกทั้งวัตถุดิบที่นำมาใช้ก็ไม่มีสารพิษเจือปน

"ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ "ฮัลส์ แวร์" สามารถใช้งานได้ยาวนานมากกว่า 3-5 ปี แม้ว่าผิวของภาชนะจะไม่เงางามเหมือนกับการใช้วัตถุดิบชนิดอื่นมาทำ แต่ก็เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง และยังย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ด้วยการฝังและกลบในดิน โดยที่กระบวนการของแบคทีเรียจะเป็นตัวย่อยสลาย"

สำหรับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะอุปกรณ์เครื่องครัว เช่น จาน ช้อน ส้อม แก้ว และสำหรับเด็กนั้น แบรนด์ก็ได้มีการสร้างผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ Husk’s Baby และ Mini Husk’s Baby ซึ่งเป็นจานอาหารสำหรับเด็ก ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้, Lunch Box กล่องอาหาร, Husk’s Creative แก้วดอกไม้, Husk’s Desk แก้ว และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ดี บริษัทยังต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่การทำผลิตภัณฑ์เครื่องครัวประเภท มีด และเขียง เพื่อทดแทนการใช้ไม้ ซึ่งมักจะเกิดเชื้อราเวลาที่ใช้งานไประยะหนึ่ง และพลาสติก ซึ่งอาจจะมีการหลุดร่อนออกมาบ้างเวลาที่ใช้มีดหั่นอาหาร ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ในระยะถัดไป บริษัทยังเตรียมทำผลิตภัณฑ์ประเภทของเล่นเด็ก เพื่อทดแทนของเล่นที่ทำจากไม้ โดยขั้นตอนในปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย เพราะผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก



husk2


ส่วนภาพรวมของธุรกิจในอนาคต บริษัทต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภคโดยตรงให้มากขึ้น (B2C) จากเดิมที่จะเน้นการร่วมมือกับบริษัท ร้านอาหาร ในการผลิตอุปกรณ์เครื่องครัวให้ (B2C) ขณะที่ หลักคิดในการทำธุรกิจที่ตนยึดถือเพื่อนำทางไปสู่ความสำเร็จ คือ การมองไปยังความเปลี่ยนแปลงในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการ จะไม่ได้มุ่งเน้นที่ผลกำไรเป็นหลัก โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติและมีความปลอดภัยในการใช้งาน


e-book-1-503x62-7