มีลุ้น! 'น้ำมันดิบ' ทะลุ 100 ดอลล์ หลังอิหร่านถูกสกัดการส่งออก

16 ก.ย. 2561 | 03:17 น.
มาตรการควํ่าบาตรของสหรัฐฯ ที่มีต่ออิหร่านและกำลังจะมีผลบังคับใช้ต้นเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้ อาจจะดันให้ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกพุ่งทะยานขึ้นจากระดับ 68-78 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปัจจุบัน ไปเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ อีกครั้งภายในสิ้นปีนี้ หลังจากที่ราคานํ้ามันดิบอยู่ในภาวะขาลงและแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2557 หรือกว่า 4 ปีมาแล้ว

การควํ่าบาตรของสหรัฐฯ จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. 2561 นี้ หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงจำกัดการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งเป็นข้อตกลงนานาชาติ โดยสหรัฐฯ อ้างว่า อิหร่านได้ปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งนับจากนั้นมา รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีมาตรการควํ่าบาตรทางการค้าและการเงินต่ออิหร่านออกมาเป็นระลอก ๆ และล่าสุด กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก็ได้ขีดเส้นตายให้วันที่ 4 พ.ย. ศกนี้ เป็นวันที่ประเทศใด ๆ ก็ตาม ที่เป็นผู้ซื้อนํ้ามันดิบจากอิหร่าน ต้องยุติการซื้ออย่างเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะโดนมาตรการควํ่าบาตรจากสหรัฐฯ เช่นกัน

ปัจจุบัน อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกนํ้ามันดิบรายใหญ่ที่สุดในโลก การสกัดกั้นนํ้ามันดิบของอิหร่านไม่ให้เข้าสู่ตลาด อาจส่งผลให้ราคานํ้ามันในตลาดโลกพุ่งทะยานเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้  ปัจจุบัน ราคานํ้ามันดิบ เวสต์ เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต (West Texas Intermediate : WTI) ของตลาดสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคานํ้ามันดิบเบรนต์ของยุโรปอยู่ที่เกือบ ๆ 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถ้าหากไม่มีมาตรการควํ่าบาตรอิหร่าน ราคานํ้ามันก็อาจอยู่ที่ระดับประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ยิ่งใกล้วันเส้นตายการควํ่าบาตรจะมีผลบังคับใช้ ก็ยิ่งเป็นแรงส่งให้ราคานํ้ามันดิบโดยเฉลี่ยพุ่งสูงขึ้น


TP10-3401-AA

นักวิเคราะห์ตลาดนํ้ามัน มองว่า ขณะนี้มีหลายเหตุปัจจัยที่จะหนุนให้ราคานํ้ามันดิบโลกขยับราคาสูง ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณการส่งออกของอิหร่านและประเทศผู้ส่งออกรายอื่น ๆ เช่น เวเนซุเอลา ที่ปรับลดลงในเวลานี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การส่งออกนํ้ามันดิบของอิหร่านในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มีปริมาณลดลงมาแตะระดับ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่เคยทำระดับสูงสุดที่ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. การส่งออกนํ้ามันดิบจากอิหร่านมายังภูมิภาคเอเชียและยุโรปเริ่มมีแนวโน้มปรับลดลงเรื่อย ๆ เมื่อยิ่งเข้าใกล้ช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาเตรียมใช้มาตรการควํ่าบาตรต่ออิหร่านอย่างเป็นทางการ คือ วันที่ 4 พ.ย. ที่จะถึงนี้

ภายใต้มาตรการดังกล่าว อิหร่านไม่เพียงต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่มาตรการควํ่าบาตรครั้งนี้ สหรัฐฯ ยังกำกับให้ทุกประเทศหยุดการนำเข้านํ้ามันดิบจากอิหร่านเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะต้องพบกับมาตรการในเชิงลงโทษจากสหรัฐฯ ขณะเดียวกันปริมาณการส่งออกนํ้ามันดิบจากประเทศเวเนซุเอลาที่กำลังประสบวิกฤติเศรษฐกิจและเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ก็มีแนวโน้มปรับลดลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้หลายฝ่ายหันมาจับตาที่การประชุมองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกนํ้ามัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก ที่กำลังจะมีขึ้นที่ประเทศแอลจีเรียปลายเดือน ก.ย. นี้ เพื่อดูว่าจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณการผลิตนํ้ามันดิบของอิหร่านที่หายไปจากตลาดด้วยเหตุจากการควํ่าบาตรของสหรัฐฯ หรือไม่

รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,401 ระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2561



เพิ่มเพื่อน

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว