ย้อนปมร้อนข้อพิพาท ‘กสทช.-ดีแทค’ เปิดศึกเยียวยาคลื่น 850

16 ก.ย. 2561 | 04:43 น.
แม้มติบอร์ดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา มีมติเสียงข้างมาก 4:2 ให้ ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่เข้าเกณฑ์มาตรการเยียวยาคุ้มครองผู้ใช้บริการ ด้วยเหตุผลที่ว่าจำนวนลูกค้าที่ใช้งานบนคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ มีจำนวนไม่มากเพียงพอ

ย้อนรอย

ข้อพิพาทระหว่าง กสทช.กับ ดีแทค ที่เกิดขึ้นเนื่องจากคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 850 เมกะเฮิรตซ์ จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2561 ซึ่งดีแทค และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้ากรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน ต่อคณะกรรมการ กสทช. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 เพื่อขอให้ลูกค้าดีแทคได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อคุ้มครองลูกค้าให้สามารถใช้บริการได้ต่อเนื่อง

ล่มประมูลรอบแรก

ซึ่งระหว่างนั้นเป็นช่วงที่ กสทช.ได้มีการจัดทำแผนประมูลคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ แต่ทว่าในวันประมูล 1800 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 กลับ “ล่ม” ไม่เป็นท่า เนื่องจาก 3 ค่ายมือถือพร้อมใจกันไม่เข้าร่วมประมูล ด้วยเหตุผลราคาตั้งต้นการประมูลสูงเกินจริง อีกทั้งแต่ละค่ายให้เหตุผลว่ามีจำนวนคลื่นความถี่เพียงพอต่อการให้บริการ

ปรับเกณฑ์ใหม่

mp20-3401-a       เมื่อการประมูลในรอบแรกนั้น “ล่ม” และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้ออกมาติงเรื่องราคาตั้งต้นที่สูงเกิน เพราะสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นจึงเป็นที่มาที่ กสทช.ได้มีการปรับหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ โดยกำหนดราคาตั้งต้นคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ขนาด 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ใบอนุญาต ในราคาตั้งต้น 35,988 ล้านบาท และคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ขนาด 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวนใบอนุญาต 9 ใบ ราคาตั้งต้นใบละ 12,486 ล้านบาท ทำให้เอไอเอสและดีแทคตัดสินใจเข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในรอบที่ 2 และชนะการประมูลคนละ 1 ใบอนุญาต ด้วยราคา 12,511 ล้านบาท ขณะที่คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ นั้นไม่มีผู้ยื่นคำขอเข้าร่วมการประมูล เพราะดีแทค ต้องการให้ กสทช. ปรับเงื่อนไขที่ว่าผู้ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบป้องกันการรบกวนสัญญาณของรถไฟความเร็วสูง (ดูตารางลำดับเหตุการณ์ประกอบ)

ไม่เยียวยาจึงฟ้อง

ถึงแม้ว่าสัญญาสัมปทานใกล้จะสิ้นสุดแล้วแต่ กสทช. กลับยังไม่ตัดสินใจที่จะเยียวยาดีแทคตามคำร้อง เนื่องจากเงื่อนไขของการเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการนั้น ดีแทคจะได้รับสิทธิก็ต่อเมื่อแสดงความประสงค์ที่
จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว ด้วยการยื่นคำขอเข้าร่วมประมูล แต่ดีแทคกลับเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการประมูล จึงไม่ตรงตามเงื่อนไขการเข้าสู่มาตรการเยียวยาตามประกาศ กสทช. ส่งผลให้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา
ดีแทคได้มีการยื่นฟ้องเพิกถอนมติคณะกรรมการ กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ลูกค้าดีแทคสามารถใช้งานบนคลื่นความถี่เดิมต่อไปได้อีก จนกว่าจะมีการจัดสรรคลื่นให้กับผู้ใช้งานรายใหม่

ดับฝันดีแทค

090861-1927-9-335x503       ทั้งนี้ ณ วันที่ 10 กันยายน 2561 ดีแทคมีจำนวนลูกค้าที่ใช้งานอยู่บนคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน  94,625 ราย ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปกว่า 6 หมื่นรายและซิมที่ใช้ในดีไวซ์กว่า 2 หมื่นเลขหมาย ซึ่งทาง กสทช. ได้มีการลงมติเสียงข้างมาก 4:2 ว่าจำนวนผู้ใช้บริการที่เหลืออยู่นั้นไม่มากเพียงพอในการเข้าสู่มาตรการเยียวยา เมื่อเทียบกับกรณีการเยียวยาที่ผ่านมาของเอไอเอส ซึ่งมีลูกค้าใช้งานบนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ กว่า 4 แสนราย รวมทั้งทรูและบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือ ดีพีซี ที่มีลูกค้าใช้บริการบนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ รวมกว่า 2.3 แสนราย ผนวกกับเหตุที่ทาง กสทช. จัดการประมูลไม่ทันจึงได้ให้มีการเข้าสู่มาตรการเยียวยา

แม้ว่าสัมปทานของดีแทคจะสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา แต่มติกสทช.ก็ไม่ใช่บทสรุปสุดท้าย เพราะก่อนหน้านี้ดีแทคได้ยื่นฟ้องเพิกถอนมติคณะกรรมการ กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ลูกค้าดีแทคสามารถใช้งานบนคลื่นความถี่เดิมต่อไปได้อีก จนกว่าจะมีการจัดสรรคลื่นให้กับผู้ใช้งานรายใหม่  ทั้งหมดนี้คือเกมการต่อสู้ระหว่างดีแทคและกสทช.ที่มีผู้บริโภคเป็นตัวประกัน

รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,401 ระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2561 e-book-1-503x62-7