ราคาน้ำมันดิบร่วงกว่า 2% กังวลปัญหาสงครามการค้ากดดันอุปสงค์โลก

14 ก.ย. 2561 | 03:14 น.
ราคาน้ำมันดิบร่วงกว่า 2% กังวลปัญหาเศรษฐกิจและสงครามการค้ากดดันอุปสงค์โลก

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมัน  ประจำวันที่ 14 กันยายน 2561

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่า 2% จากระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน หลังนักลงทุนกังวลต่อวิกฤตตลาดเกิดใหม่และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้น้ำมันอ่อนตัวลง

+/- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดปริมาณการใช้น้ำมันของโลกจะแตะระดับ 100 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2561 และคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2561 และ 2562 ยังคงแข็งแกร่งที่ 1.4 และ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกดดันต่ออุปสงค์ คือ ปัญหาค่าเงินของตลาดเกิดใหม่และสงครามการค้าที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น

- นักลงทุนวิตกต่อความรุนแรงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกมาเผยแพร่ข้อความว่า สหรัฐฯ ไม่ได้เผชิญแรงกดดันที่จะต้องทำข้อตกลงการค้ากับจีน แต่เป็นจีนที่ถูกกดดันให้ต้องทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ

+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราว 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังติดข้อจำกัดของปริมาณการขนส่งน้ำมันดิบผ่านทางท่อจากแหล่งน้ำมันมายังโรงกลั่นและท่าเรือส่งออก

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานจากภูมิภาคตะวันตกเข้ามาสู่ทวีปเอเชียมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากประเทศอินโดนีเซีย

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังถูกกดดันโดยอุปทานจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เข้ามายังทวีปเอเชีย

090861-1927-9-335x503-3 ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 76-81  เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

สำนักข่าว Reuters เผยปริมาณการส่งน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน ส.ค. 61 ลดลงมาแตะระดับ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดที่ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังได้เผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ซึ่งกำกับให้ทุกประเทศหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านนับตั้งแต่ 4 พ.ย. 61 นี้เป็นต้นไป

ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากท่าเรือขนส่งน้ำมันหลักของประเทศได้มีการหยุดดำเนินการลง หลังเกิดเหตุเรือขนส่งน้ำมันดิบชนกัน

จับตาการการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกในเดือน ก.ย. ว่าจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านที่หายไปหรือไม่

ที่มา : บมจ.ไทยออยล์ ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว