รถไฟฟ้ารางเบา2เส้นทาง จุดประกายท้องถิ่นร่วมลงทุน

13 ก.ย. 2561 | 07:23 น.
นับเป็นข่าวดีก่อนสิ้นปี 2561 เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 กันยายน 2561 มีมติที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม 2 รายการหลักที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่ต่างจังหวัด ดังนี้ คือ อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... จำนวน 2 โครงการ

โดยโครงการแรกคือ โครงการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตได้ถูกบรรจุไว้ในโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track ปี 2560 ของกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.)ได้มีมติรับทราบผลการศึกษาและออกแบบในส่วนของระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา ผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตและไปสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร ลงทุนกว่า6หมื่นล้านบาท

ส่วนโครงการที่ 2 คือ โครงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกได้มีมติมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษารูปแบบระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่เหมาะสมในเมืองภูมิภาคโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ สรุปผลการศึกษาเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit :LRT) เส้นทางแรก(สายสีแดง) ลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ทาบทามบีทีเอสร่วมลงทุน

ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)อยู่ระหว่างการจ้างศึกษาตามพรบ.ร่วมทุนพีพีพีโดยจังหวัดภูเก็ตนั้นถือได้ว่ามีความพร้อมมากกว่า และได้รับการตอบรับจากนักลงทุนในพื้นที่โดยเฉพาะบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมืองเป็นอย่างดี พร้อมลงขันร่วมลงทุนอีกทั้งปัจจุบันยังเปิดให้บริการเดินรถสมาร์ทบัสให้บริการในเส้นทางดังกล่าวนี้ ดังนั้นหากรฟม.เปิดให้บริการรถไฟฟ้าก็จะปรับเปลี่ยนรถสมาร์ทบัสไปให้บริการเป็นระบบฟีดเดอร์ป้อนผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าต่อไป

นอกจากนั้นกลุ่มนักลงทุนในภูเก็ตยังพร้อมลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยเตรียมนำพื้นที่ของแต่ละรายมาร่วมพัฒนาให้สร้างมูลค่าเพิ่มและเกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุนกับโครงการนี้อีกด้วย โดยได้มีการทาบทามกลุ่มบริษัทบีทีเอสให้ไปร่วมบริหารจัดการเดินรถโครงการดังกล่าวพร้อมกับเสนอแผนการพัฒนาที่ดินล่อใจให้เล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสตลอดจนความคุ้มค่าด้านการลงทุน

ในส่วนจังหวัดเชียงใหม่นั้นม้จะยังเป็นแผนที่เร่งขับเคลื่อนตามกระบสนการแต่ยังคงใช้ระยะเวลาอีกม่น้อยกว่า 1 ปี ทั้งเรื่องการออกแบบรายละเอียด การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการปฏิบัติตามพรบ.ร่วมทุนปีพ.ศ.2556 หรือการร่วมทุนพีพีพีที่กระทรวงการคลังจะกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมออกมาให้ดำเนินการเพื่อให้รฟม.นำไปปรับใช้กับโครงการในพื้นที่เชียงใหม่ต่อไป

“รถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่” สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ศึกษาแผนแม่บทรองรับไว้แล้ว 3 เส้นทาง คือสายสีแดง สายสีเขียวและสายสีน้ำเงิน รวมระยะทางประมาณ 41 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท โดยจะเลือกสายสีแดง ระยะทาง 12 กิโลเมตร ที่วิ่งให้บริการเชื่อมโยงพื้นที่ทิศเหนือ-ใต้มาพัฒนาก่อน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 และเปิดบริการปี 2565

เส้นทางนี้จุดที่จะเป็นสาเหตุให้ล่าช้าคือการก่อสร้างในส่วนที่เป็นอุโมงค์ในเมืองเนื่องจากผ่านพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งกลุ่มนักอนุรักษ์หรือเอ็นจีโอของจังหวัดเชียงใหม่เข้มแข็งอย่างมากแน่นอนว่าเมื่อเริ่มต้นโครงการคงจะเจอการต่อต้านในที่สุด
หนุนท้องถิ่นร่วมลงทุน

ในส่วนการร่วมลงทุนนั้นเบื้องต้นยังมีลุ้นว่าท้ายที่สุดแล้วตามแนวคิดของนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสนข.ในฐานะว่าที่ปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่ต้องการให้ท้องถิ่นร่วมลงทุนและเข้ามาบริหารจัดการโครงการร่วมกับรฟม. จึงต้องมีลุ้นว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่(อบจ.) จะสนใจหรือไม่

แต่ที่แน่ๆนั้นบริษัท รีเจียนนอลทรานซิท คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) ที่มีเครือข่ายบริษัทพัฒนาเมืองอีกหลายจังหวัดก็ยืนยันความพร้อมร่วมลงทุนได้ทันที เนื่องจากปัจจุบันได้จัดให้บริการรถโดยสารสมาร์ทบัสให้บริการในหลายเส้นทางรองรับไว้แล้วจึงพร้อมป้อนผู้โดยสารให้โครงการรถไฟฟ้าได้ทันที

จากนั้นยังมีทุนท้องถิ่นอีกหลายรายพร้อมแสดงความสนใจโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรถสองแถวแดง และรถเมล์เขียวที่เป็นเครือข่ายของปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่ก็พร้อมร่วมลงทุนในครั้งนี้ได้ทันทีหากรัฐเปิดเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาชัดเจนแล้ว
ดังนั้นมติครม.ต่อการส่งเสริมให้ท้องถิ่นร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้ารางเบาขึ้นในต่างจังหวัดนับว่าเป็นอีกมิติใหม่ของการส่งเสริมด้านการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังเป็นการจัดประกายให้อีกหลายจังหวัดมีความตื่นตัวต่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของโครงการรถโดยสารสมาร์ทบัสที่ RTC ไปให้บริการ พบว่าหลายจังหวัดก็ได้นำโครงการไปปรับใช้แล้วในพื้นที่ของตนเอง นอกจากนั้นยังจะมีอีกหลายจังหวัดเร่งดำเนินการ อาทิ อุดรธานี อุบลราชธานี ระยอง ชลบุรี สุโขทัย สระบุรี เป็นต้น

นับเป็นมิติใหม่ของการส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาคด้วยการเร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่เพื่อเป็นตัวดึงดูดด้านการลงทุนในส่วนอื่นๆตามมาให้ท้องถิ่นนั้นๆได้เข้าไปมีส่วนร่วมละพัฒนาเชิงพาณิชย์ในรูปแบบ TOD หรือรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสมทั้งรอบสถานีและตามแนวเส้นทางให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อโครงการ ไม่เป็นภาระด้านการลงทุน แล้วยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองนั้นๆได้อย่างยั่งยืนต่อไป