นักการเมืองจี้คลายล็อก รับเลือกตั้ง 24 กุมภาฯ 2562

12 ก.ย. 2561 | 13:28 น.
นักการเมืองจี้คสช.เร่งคลายล็อก หลังประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.-ส.ว. ขณะ “วิษณุ”ย้ำเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562

หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) พ.ศ.2561 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ได้ประกาศลงราชกิจนุเบกษาแล้ว ในวันที่ 12 กันยายน 2561 แล้ว ทำให้นักการเมืองเริ่มออกมาเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คลายล็อกที่ถูกห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง

กราฟิกไทม์ไลน์เลือกตั้ง24ก.พ.2562

โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยว่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ข้อ 8 ระบุให้ คสช.ต้องพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกประกาศ คสช.หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง ดังนั้น เชื่อว่า คสช.คงพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พรรคได้เตรียมความพร้อม

“ส่วนตัวเชื่อว่าการพิจารณาดังกล่าวคงมีผลให้คลายล็อกบางเงื่อนไขเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่ คสช.ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับการทำงานของพรรคการเมือง คือ การเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค และการหาสมาชิกพรรคการเมือง เพราะหากทอดเวลาไปจนกว่าที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับ ช่วงกลางเดือน ธ.ค.อาจทำให้พรรคเตรียมงานไม่ทัน และเกิดฉุกละหุกทางการเมืองได้”

นายวราวุธ กล่าวด้วยว่าการเตรียมความพร้อมเรื่องการเลือกตั้ง มีประเด็นที่ตนกังวล คือ การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในกระบวนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง , นโยบายของพรรคการเมือง , ความถูกต้องของสมาชิกพรรคการเมืองในชั้นสุดท้าย เพราะหาก กกต.มีเวลาทำงานแบบกระชั้นชิดและตรวจสอบไม่รอบคอบ อาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นได้ เช่น กรณีการตรวจสอบสมาชิกพรรคการเมืองที่ซ้ำซ้อนกับพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ , การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้น ที่รายชื่อที่พรรคส่งนั้นไม่ผ่านขั้นตอนหรือสังกัดพรรคไม่ครบ 90 วันเป็นต้น

"ผมขอฝากไปถึงนายกฯ ให้พิจารณากรอบการทำงานที่เหมาะสมและทำหน้าที่นั้นให้ดีของ กกต.ด้วย ไม่อย่างนั้นการทำงานที่มีเนื้อหามาก และภายใต้เวลาที่จำกัด รวมถึงทรัพยากรของ กกต.ที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง อาจมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งได้" นายวราวุธ ระบุ

วิษณุ123

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ต้องทอดเวลาไปอีก 90 วัน ซึ่งจะตรงกับเดือนธันวาคม 2561 จึงจะมีผลบังคับใช้ การทิ้งเวลาไว้ 60 วันแรกนั้น เพื่อให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง จากนั้น 30 วันให้พรรคการเมืองคัดเลือกผู้สมัครส.ส. ทั้งนี้ การทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคต่างๆ ทำได้ตั้งแต่ช่วง 60 วันแรกที่กกต.จะไปขอความคิดเห็นจากพรรคต่างๆ ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ดังนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะคลายล็อกให้บางส่วนหลังจากประกาศ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ลงมาแล้ว และเมื่อครบ 90 วัน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เริ่มมีผลใช้จริง จะมีการปลดล็อกทั้งหมด

ขณะที่การจัดเลือกตั้งส.ส.ต้องมีขึ้นภายใน 150 วัน ถ้านับตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2561 ก็จะไปสิ้นสุดที่เดือนพฤษภาคม 2562 ทำให้การกำหนดวันเลือกตั้งที่ถ้าใช้วันอาทิตย์เป็นตัวตั้ง และถ้าจะจัดการเลือกตั้งภายในกรอบ 60 วัน ก็จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งกกต.คิดว่าน่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562