"กรณ์" เดินสายยื่น กกพ.-ผู้ตรวจฯ สอบ GPSC ซื้อหุ้นโกลว์

12 ก.ย. 2561 | 09:05 น.
"กรณ์" เดินสายยื่น "กกพ.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน" สอบ GPSC ซื้อหุ้นโกลว์ อ้างขัดรัฐธรรมนูญ

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อคัดค้านการที่กลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) จะเข้าซื้อกิจการ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) โดยเห็นว่า กกพ. จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจจะมีผลต่อการดำเนินการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 75 ที่ห้ามภาครัฐทำธุรกิจแข่งกันเอกชน ยกเว้นว่า สามารถดำเนินการได้กรณีจำเป็น และจะเดินทางไปยื่นข้อร้องเรียนดังกล่าวต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบกรณีขัดรัฐธรรมนูญ

"การที่จะซื้อหุ้น GLOW เพื่อที่จะทำธุรกิจไฟฟ้า ถือเป็นการแข่งขันกับเอกชนอย่างปฎิเสธไม่ได้ เราจึงมองว่า เป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และจะยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบในประเด็นนี้" นายกรณ์ ระบุ



1


นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า ประเด็นสำคัญที่ได้หารือกับ นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธาน กกพ. คือ เงื่อนไขสำคัญการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ต้องได้รับการอนุมัติจาก กกพ. ซึ่งหาก กกพ. อนุมัติ ก็จะทำให้ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ที่จะเป็นคนเข้าซื้อ GLOW จ่ายเงินค่าซื้อหุ้นให้กับกลุ่ม Engie ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น GLOW มูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้เงินจำนวนนี้ถูกดึงออกนอกประเทศ หากภายหลังมีการโอนเงินไปแล้ว แต่มีการตีความว่าเป็นการกระทำที่ขัดกฎหมาย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น กกพ. ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ซึ่งมีกำหนดการพิจารณาแล้วเสร็จภายในวันที่ 27 ก.ย. และสามารถขยายเวลาได้อีก 15 วัน

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อการซื้อกิจการ GLOW จะทำให้เกิดการผูกขาดการขายไฟฟ้าในพื้นที่มาบตาพุด นอกเหนือจากการผูกขาดในธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ทำให้กลุ่มลูกค้าของ GLOW นับ 10 ราย มีความกังวลเรื่องการซื้อไฟฟ้าและไอน้ำที่อาจจะไม่เป็นธรรม และได้ยื่นข้อร้องเรียนดังกล่าวมาที่ กกพ. เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ซึ่งการที่ ปตท. มีแผนจะขยายธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนภายใต้ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ปตท. นั้น นับว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่ห้ามแข่งขันกับภาคเอกชนด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวทางที่เป็นไปได้เห็นว่า ปตท. ควรขายธุรกิจอเมซอนออกมาให้กับเอกชน โดยไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ซึ่งอาจจะเป็นการขายให้กับอดีตผู้บริหาร ปตท. หรือขายให้กับกลุ่มแฟรนไชส์ หรือประชาชนทั่วไป

"PTTOR จะกระจายหุ้นหรือไม่ เป็นสิทธิของเขา สำหรับผมมองว่า วิธีการแก้ปัญหา คือ กลางแปลงอเมซอนเป็นเอกชนล้วน ๆ อย่างน้อยให้การแข่งขันเกิดขึ้นระหว่างเอกชนกันเอง ไม่ใช่รัฐแข่งกับเอกชน แล้วทำให้เกิดการสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ" นายกรณ์ กล่าว



2


ด้าน นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการ กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า กกพ. อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลหลังจากมีผู้มายื่นข้อเรียกร้องต่อกรณีการที่กลุ่ม ปตท. จะเข้าซื้อกิจการ GLOW โดยยังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่ก็จะยังอยู่ในกรอบระยะเวลา 90 วัน หลังจากได้รับหนังสือเพื่อให้พิจารณาจาก GPSC เมื่อปลายเดือน  มิ.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ การพิจารณาของ กกพ. จะอยู่ในขอบเขตตามข้อกฎหมายว่าด้วยการแข่งขัน และจะนำข้อกังวลเรื่องการดำเนินการขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาพิจารณาร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีผู้มานำเสนอข้อมูลให้กับทาง กกพ. อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงลูกค้าของ GLOW ในพื้นที่มาบตาพุด ทั้งนี้ หากใครมีประเด็นอะไรก็จะนำเข้ามาประกอบด้วย อะไรที่อยู่ในอำนาจที่เราพิจารณา ก็จะพิจารณา กรณีขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรายังตอบไม่ได้ เพราะบอร์ดยังไม่ได้หารือกัน แต่ตามกฎหมายที่ กกพ. มี คือ มาตรา 7 และมาตรา 60 พิจารณาไประดับหนึ่งแล้ว และให้คนไปหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้มีการตีความว่าประเด็นนี้เป็นการผูกขาดหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น นายกรณ์ได้มอบหมายให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการยื่นเรื่องแทน


e-book-1-503x62