เอกชนแห่ทำ 'เฮดจิ้ง' รับมือค่าเงินผันผวน!!

12 ก.ย. 2561 | 08:48 น.
120961-1537

บาทแข็งค่าโด่ง! ผู้ส่งออก-นำเข้าตื่นป้องกันความเสี่ยงรักษารายได้-กำไรหด ... สรท. ห่วงรายเล็กเข้าไม่ถึงบริการแบงก์ ทำธุรกิจดิ่งเหว ชี้ชัดรายได้ส่งออกรูปเงินบาท 7 เดือน โตแค่ 1% ด้าน ไทยพาณิชย์ เผย 8 เดือน ลูกค้าแห่ทำเฮดจิ้ง หนุนตลาดค้าเงินตราต่างประเทศโต 20%

จากสงครามการค้าสู่สงครามค่าเงินที่ลุกลามไปทั่วโลกเวลานี้ ส่งผลให้เงินหลายสกุลอ่อนค่าลง ขณะที่ ไทยยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าเพิ่มขึ้น ยังส่งผลให้เงินบาท ณ เวลานี้ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลอื่นในภูมิภาค สร้างความกังวลต่อภาคการส่งออกที่จะกระทบกับความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

 

[caption id="attachment_316372" align="aligncenter" width="393"] วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)[/caption]

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวลานี้ แม้ในภาพรวมเชื่อว่า คงไม่มีผลกระทบกับตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้ ที่ทาง สรท. ปรับคาดการณ์ใหม่ จากเดิมจะขยายตัวได้ที่ 8% เพิ่มเป็น 9% แต่ที่ห่วง คือ รายได้ของผู้ส่งออกในรูปเงินบาทจะลดลงหรือไม่มีกำไร ซึ่งจะยังส่งผลถึงผลประกอบการและการขาดสภาพคล่องในการรักษา หรือ ขยายธุรกิจ

"สมาชิกของ สรท. เวลานี้ ได้หาวิธีป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินหลายวิธี แต่โดยส่วนใหญ่จะจองฟอร์เวิร์ดล่วงหน้ากับธนาคาร เพราะเกรงบาทจะแข็งค่าไปมากกว่านี้ โดยส่วนใหญ่จะทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ 3-6 เดือน เพราะถ้านานกว่านี้จะมีต้นทุนค่าพรีเมียม (ค่าธรรมเนียม) จากแบงก์เพิ่มขึ้น ในรายใหญ่เราไม่ห่วง ที่ห่วงคือ ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีที่ทำฟอร์เวิร์ด หรือ เฮดจิ้ง กันน้อยมาก จากส่วนหนึ่งไม่มีวงเงินกับแบงก์มาก่อน หากจะทำก็ต้องหาหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้มีต้นทุนเพิ่ม อีกส่วนหนึ่งไม่ทำ เพราะรอเกมพลิก หากบาทอ่อนค่าลง จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่หากพลาดก็เจ็บตัว"

 

[caption id="attachment_316373" align="aligncenter" width="400"] คงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. คงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท.[/caption]

สอดคล้องกับ นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ที่กล่าวว่า ผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เห็นได้จากรายรับการส่งออกในรูปเงินบาทของไทยในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัวเพียง 1.24% (มีมูลค่าส่งออก 4.6 ล้านล้านบาท) สวนทางกับการส่งออกรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ขยายตัวถึง 10.5% (มูลค่าส่งออก 1.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากบาทแข็งค่า ไม่ห่วงสินค้าอุตสาหกรรม แต่ห่วงสินค้าเกษตร เช่น ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง และน้ำตาล เพราะใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และมีต้นทุนเป็นเงินบาท หากส่งออกขาดทุน ก็จะมีผลต่อราคาสินค้าและเกษตรกรในประเทศด้วย

นายวศิน ไสยวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เผยว่า จากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินอื่น ส่งผลให้ผู้ส่งออกและนำเข้าทยอยเข้ามาปิดความเสี่ยงจากค่าเงินอย่างต่อเนื่อง ภาพรวม 8 เดือนแรกปีนี้ หากดูจากธุรกรรมปริวรรตเงินตรา (ตลาดเงินตราต่างประเทศ) มีปริมาณ (โวลุ่ม) เติบโต 20% หลัก ๆ เป็นลูกค้าโฮลเซล ซึ่งมี 3-4 กลุ่มที่ป้องกันความเสี่ยงอย่างมีนัย ทั้งกลุ่มพลังงาน ก่อสร้าง การผลิต รวมถึงผู้นำเข้าวัตถุดิบ โดยส่วนใหญ่เป็นการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (Forward Contract) ซึ่งการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่ยังเป็นระยะเวลาปกติช่วง 3 เดือน 6 เดือน ขณะที่ ผู้นำเข้าจะล็อกราคาอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเครื่องมือสิทธิในการซื้อ หรือ ขายเงินตราต่างประเทศ (FX Option)

"แนวโน้มช่วงที่เหลือปีนี้ เชื่อว่านักธุรกิจทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าจะทยอยป้องกันความเสี่ยง ขณะที่ ธนาคารจับตาผลกระทบจากเหตุการณ์ในตุรกี แม้ปัจจุบันนี้ ไทยยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังไม่อยู่ในเซฟโหมดแต่อย่างใด"


 

[caption id="attachment_316374" align="aligncenter" width="503"] นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี[/caption]

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า แนวโน้มผู้นำเข้าตื่นตัวทำเฮดจิ้ง (ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน) เพิ่มขึ้น เพราะส่วนต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Swap Point) ติดลบ ทั้งกลุ่มปิโตรเคมี (พลังงาน) เคมีภัณฑ์ยานยนต์ รถยนต์ ซึ่งผู้นำเข้ามีสัดส่วนทำเฮดจิ้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับผู้ส่งออก

"1 เดือนที่ผ่านมา ผู้ส่งออกทำเฮดจิ้งน้อยลงจากปกติเคยทำ 50% ของยอดมูลค่าส่งออก ซึ่งกระจายในอุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์ พลาสติก ยาง คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนผู้นำเข้ามีสัดส่วนทำเฮดจิ้ง 35% แนวโน้มยังเฮดจ์เพิ่ม เพราะ Swap Point ติดลบ ทำให้ต้นทุนการทำเฮดจิ้งของผู้นำเข้าลดลง เช่น สัญญา 6 เดือน Swap Point ติดลบ 20 สตางค์ จากต้นปีอยู่ที่ประมาณ 10 สตางค์"


GP-3399_180912_0019


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,399 วันที่ 9-12 ก.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เล็งเพิ่มเฟส2 แจก5หมื่นเฮดจิ้งบาท
หั่นกำไรหนุนซื้อเฮดจิ้ง แบงก์อุ้ม SMEs สุดตัว ออกโปรฯกันยายนนี้


เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62