สงขลาจัดงาน "นวัตกรรมยางพาราไทย" ครั้งที่ 1

12 ก.ย. 2561 | 08:06 น.
สงขลาจับมือทุกภาคส่วน จัดงาน "นวัตกรรมยางพาราไทย" Thailand Rubber Innovation Expo 2018 ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด "Rubber is Life ยางคือชีวิต"

นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จังหวัดสงขลา ร่วมกับทุกภาคส่วน จัดงานนวัตกรรมยางพาราไทย หรือ Thailand Rubber Innovation Expo 2018 ครั้งที่ 1 ขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 ก.ย. 2561 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อสร้างโอกาสทางด้านการตลาดให้ผู้ประกอบการ เป็นการส่งเสริมสนับสนุน และเปิดช่องทางด้านการตลาดของยางพาราใน จ.สงขลา สามารถเชื่อมโยงตลาดกลางยางพาราทั้งในและต่างประเทศ

จ.สงขลา เป็นเมืองแห่งยางพารา ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกยางพาราเป็นรายได้หลัก การจัดงานในครั้งนี้เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และถือเป็นครั้งแรกที่ได้รวบรวมนวัตกรรมยางพาราจากแต่ละมหาวิทยาลัยนำมาจัดนิทรรศการ เพื่อให้เกษตรกรเห็นถึงการแปรรูปยางพารา มาใช้ให้เกิดคุณค่ามากที่สุด โดยงาน "นวัตกรรมยางพาราไทย" Thailand Rubber Innovation Expo 2018 ครั้งที่ 1 จัดภายใต้แนวคิด "Rubber is Life ยางคือชีวิต"

ทั้งยังเป็นการยกระดับให้มีการผลิต แปรรูปยางพาราให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอบรับ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยนำผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากยางพารา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรอุตสาหกรรมยางพารา รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์ภายในและต่างประเทศ ให้ส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันเกษตร เอสเอ็มอี ร่วมมือบูรณาการขับเคลื่อนนวัตกรรมยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าแบบครบวงจร จ.สงขลา จึงได้บูรณาการภาครัฐและเอกชน ให้มีการพัฒนางานวิจัยด้านนวัตกรรมยางพารา สามารถพัฒนาต่อยอดนำสู่การใช้ประโยชน์ จึงต้องการนำเสนองานวิจัย ผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราจากหน่วยงานการศึกษา ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา หรือ หน่วยงานภาคเอกชน รวมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและทั่วภาคใต้ ซึ่งมีนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ถนนยางพารา หรือ อุตสาหกรรมจากโครงการรับเบอร์ซิตี้ หรือ ผลงานวิจัยทางด้านนวัตกรรมจากนักวิชาการมากมาย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกร และสามารถนำไปขยายผลต่อในสวนยางพารา



090861-1927-9-335x503


การจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 14 ก.ย. 2561 พร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง "นโยบายรัฐกับยางพาราแบบยั่งยืน" ขณะเดียวกันยังมีวิทยาการผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับยางพาราตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง มาร่วมให้ความรู้ทั้งในรูแบบการเสวนาและบรรยายมากมาย

นอกจากนี้ ในงานยังมีนิทรรศการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ฉลุง) รับเบอร์ซิตี้ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การออกร้านโชว์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราราคาพิเศษ โปรโมชั่นจากสถาบันการเงิน และการเจรจาธุรกิจ ที่จะทำให้เห็นความร่วมมือในการส่งเสริมการผลิตและการตลาดยางพาราที่นำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

"อยากจะเชิญชวนพี่น้องชาวสวนยาง เครือข่ายสหกรณ์ชาวสวนยาง นักวิชาการ นักวิจัย ข้าราชการ ภาคธุรกิจ และผู้เกี่ยวข้องกับยางพาราทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียน นักศึกษา เข้ามาชมงานครั้งนี้เพื่อเปิดโลกทัศน์ และมองหาโอกาสร่วมกันในการต่อยอดวงจรชาวสวนยางพาราอย่างยั่งยืน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และการลงทุนเกี่ยวกับยางพาราอย่างวครบวงจรด้วยนวัตกรรม 4.0" นายขจรศักดิ์ กล่าว

ด้าน ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า งานนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการนำเสนอ 30 งานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมยางพารา รวมทั้ง 10 นวัตกรรมเด่นจากยางพารา เช่น เทคโนโลยีวัสดุปูเคลือบสระน้ำจากยางธรรมชาติ, ถนนยางพารา, แผ่นปูพื้นยางพารา, ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก, หุ่นตังกวน สำหรับช่วยชีวิตCPR, ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม

"เราเปิดบูธการนำเสนองานวิจัยจากนักวิชาการ ม.อ. และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ รวมทั้งการสาธิตวิธีการทำถุงมือผ้าเคลือบยางพารา" ผศ.คำรณ กล่าว

ผศ.ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า เกษตรกรชาวสวนยางต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพราะการทำสวนยางพาราสมัยใหม่ต้องอาศัยการจัดการเวลาในสวนยาง การบริหารจัดการเงิน หากยังทำสวนยางพาราเชิงเดี่ยวไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ชาวสวนยางพาราต้องเปลี่ยนพฤติกรรม โดยภายในงานจะมีการเสวนาเรื่อง "ต้นแบบการสร้างรายได้ของชาวสวนยาง" พูดคุยกับชาวสวนยางพาราที่นำโมเดลนี้มาใช้จนประสบความสำเร็จ  รวมถึง การเสวนาเรื่อง "ต้นแบบการสร้างรายได้ของชาวสวนยาง", "พลิกฟื้นยางพาราด้วย SMEs และ Start up" และเรื่อง "สหกรณ์ชาวสวนยางกับการขับเคลื่อนเกษตร อุตสาหกรรมยางพารา", การบรรยายเรื่อง "รู้เท่าทันตลาดยางพารา" และเรื่อง "นวัตกรรมยางพารา : ความท้าทายใหม่" พร้อมกิจกรรมประกวด Idea Challenge on Rubber Innovation, กิจกรรมนำเสนอสุดยอดนวัตกรรม, กิจกรรมสาธิต แปรรูปยางพารา และนิทรรศการต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

ส่วนนายมนุชาธิป วรกาญจนานนท์ นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนสหกรณ์จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ไฮไลท์ของการจัดงานครั้งนี้คือ นิทรรศการมีชีวิต ที่แสดงให้เห็นภาพว่ายางพาราเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนใต้ยังไง และโชว์นวัตกรรมยางพาราทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อต่อยอดสู่นวัตกรรม 4.0 เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และสามารถนำไปจำหน่ายสู่ท้องตลาด โดยไม่ละทิ้งนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตชาวสวนยางพาราตั้งแต่ดั้งเดิม

นายประดิษฐ์ ร่มสุข หัวหน้ากองส่งเสริมและพัฒนายาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สาขาหาดใหญ่ กล่าวถึงนิทรรศการต้นทาง ว่า เมื่อราคายางพาราตกต่ำ ชาวสวนยางพาราต้องเปลี่ยนแปลง โดยปรับปรุงให้เป็นสวนยางพารายุคใหม่ คือ หากยางพารามีอายุ 1-3 ปี ควรปลูกพืชแซมยางฯ ซึ่งเป็นอายุสั้น สามารถนำมาบริโภคได้ และ สร้างรายได้ หรือ หากยางพารามีอายุ 3 ปี ขึ้นไป ควรปลูกพืชร่วมยาง เช่น ผักเหรียง, ผักกูด รวมทั้งภายในสวนยางพารา สามารถเลี้ยงสัตว์ได้

"ในงานเราจะจัดกระท่อมเล็ก ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพวิถีชีวิตของการทำสวนยางยุคใหม่ มีเจ้าหน้าที่คอยอธิบายถึงวิธีการทำสวนคอยให้คำแนะนำแก่ผู้สนใจด้วย สิ่งที่จะทำให้ชาวสวนยางพาราหลุดพ้นจากราคายางพาราที่ตกต่ำ คือการปลูกพืชเชิงซ้อน ไม่ควรหวังรายได้จากยางพาราอย่างเดียว" นายประดิษฐ์ กล่าว

นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า โซนนิทรรศการกลางทาง จะให้ความรู้การแปรรูปยางดิบมาตรฐาน GAP อาทิ การรวบรวมน้ำยางสด การผลิตยางก้อนถ้วยมาตรฐาน รวมทั้งมีหน่วยประชาสัมพันธ์ที่ให้ความรู้ด้านการแปรรูปยางกลางทางชนิดต่าง ๆ พร้อมทั้งแจกแผ่นพับการแปรรูปยางดิบ ให้เข้าใจการทำยางที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง

"ประโยชน์ที่ได้รับการจัดนิทรรศการยางกลางทาง ท้าให้เกษตรกรเข้าใจหลักการจัดการน้ำยางสดให้มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน GAP ก่อนน้าส่งเข้าโรงงานแปรรูปยางดิบชนิดต่าง ๆ เช่น ยางดิบ ยางแผ่นรมควัน ยางอัดก้อน ยางแท่ง น้ำยางข้น ตามมาตรฐาน GMP ที่สามารถผลิตยางที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต ลดมลภาวะ ลดของเสียทั้งการน้ายางไปผลิตผลิตภัณฑ์ที่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้ยางทั่วโลก" นางปรีดิ์เปรม กล่าว

นายฐนยศพรรณ์ เมฆตรง ประธานบริษัท โกรรับเบอร์ลาเท็กซ์ จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท เซี่ยงไฮ้-ไทย รับเบอร์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่มสหกรณ์ชาวสวนยาง กล่าวถึงการจัดนิทรรศการโซนปลายทางว่า สิ่งที่เกษตรกรได้รับคือ ได้เห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้ในการผลิตจริง ๆ เช่น เครื่องผลิตหมอนยางพารา , เครื่องขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา มาจัดแสดง ผู้ที่มาชมงานจะทราบว่าหากอยากต่อยอดเป็นผู้ประกอบการต้องทำยังไง อาจเริ่มจากทุนน้อย ๆ เพราะภายในงานมีการให้คำปรึกษาจากนักวิชาการ

"ที่สำคัญคือ เรามีนักวิจัยจากม.อ. ซึ่งมาออกบูธแสดงผลงานวิจัย เพื่อร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากยางพาราเช่นเดียวกัน" นายฐนยศพรรณ์ กล่าวและว่า

ผู้ที่มาชมงานได้เห็นทุกขั้นตอนของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา จากยางแผ่นกลายเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายยังไง ส่วนเกษตรกรจะได้ไอเดียสำหรับการต่อยอดทำสวนยางพาราสอดรับกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความยั่งยืน


e-book-1-503x62