พาณิชย์จับมือ "เกษตร-ธ.ก.ส." ตีฆ้อง "ไม้ยืนต้นมูลค่าสูง" หลักประกันใหม่ทางธุรกิจ

12 ก.ย. 2561 | 06:28 น.
'พาณิชย์' จับมือกระทรวงเกษตรฯ และ ธ.ก.ส. เดินสายให้ความรู้ "ไม้ยืนต้นมูลค่าสูง" ทรัพย์ชนิดใหม่ของหลักประกันทางธุรกิจ หวังผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้าใจและใช้ประโยชน์ขอสินเชื่อต่อยอดธุรกิจ พร้อมหนุนประชาชนปลูกเพื่อออมเป็นทรัพย์สินในอนาคต

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2561 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... (ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในรายละเอียดของกฎกระทรวง) โดยกำหนดให้ไม้ยืนต้น 58 ชนิด เป็นทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเองเพื่อการออม และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการปลูกป่าด้วย อีกทั้งกฎหมายฉบับดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์ต่อสถาบันการเงินในการเพิ่มช่องทางการให้แหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินโดยมีกฎหมายรองรับ



ต้นไม้-หลักประกัน


ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เดินสายให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบธุรกิจ สถาบันการเงิน ผู้บังคับหลักประกัน และประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับบทบัญญัติของกฎหมาย สิทธิ และหน้าที่ของผู้ให้หลักประกัน ผู้รับหลักประกัน และผู้บังคับหลักประกัน ตลอดจนเข้าใจวิธีการและแนวทางการนำไม้ยืนต้นมูลค่าสูงมาเป็นหลักประกัน พร้อมให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ใช้ประโยชน์จากกฎหมายฯ ฉบับนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน รวมทั้ง เป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น

"การเดินสายให้ความรู้ครั้งแรกจัดขึ้นที่ จ.ขอนแก่น วันพุธที่ 12 ก.ย. 2561 หลังจากนั้นจะดำเนินการให้ความรู้ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจังหวัดถัดไป ได้แก่ จ.กระบี่ แพร่ ตราด ราชบุรี ฯลฯ เป็นต้น"

สำหรับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าอื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น กำหนดให้ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้มี จำนวน 6 ประเภท ได้แก่ (1) กิจการ (2) สิทธิเรียกร้อง เช่น สัญญาเช่า บัญชีเงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า เป็นต้น (3) สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือ วัตถุดิบ เป็นต้น (4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น (5) ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ เป็นต้น (6) ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ)"



สักทอง


ปัจจุบัน (ระหว่าง 4 ก.ค. 2559 - 10 ก.ย. 2561) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 240,528 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 5,014,626 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็น 51.24% (มูลค่า 2,569,628 ล้านบาท) รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย คิดเป็น 26.55% (มูลค่า 1,331,178 ล้านบาท) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ ช้าง คิดเป็น 22.17% (มูลค่า 1,111,651 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็น 0.04%  (มูลค่า 1,975 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็น 0.004% (มูลค่า 194 ล้านบาท) และอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็น 0.00001% (มูลค่า 0.34 บาท)


e-book-1-503x62