ศูนย์เฉพาะกิจฯ เฝ้าระวัง "บารีจัต-มังคุด" เตรียมแผนสำรองบริหารจัดการน้ำในเขื่อน

12 ก.ย. 2561 | 05:55 น.
ศูนย์เฉพาะกิจฯ ยังเฝ้าระวังพายุ "บารีจัต-มังคุด" ประเมินกระทบไทยช่วง 13–18 ก.ย. ย้ำ! หน่วยเกี่ยวข้องจับตารับมือผลกระทบใกล้ชิด พร้อมเตรียมทำแผนสำรองการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนน้ำมาก

 

[caption id="attachment_316250" align="aligncenter" width="503"] สำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)[/caption]

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ประจำวันที่ 12 ก.ย. 2561 ว่า ขณะนี้ศูนย์เฉพาะกิจฯ ยังคงเฝ้าระวังและติดตามการเคลื่อนตัวของพายุ 2 ลูก คือ "มังคุดและบารีจัต" อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินพื้นที่ที่คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุทั้ง 2 ลูก ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า พายุโซนร้อน "บารีจัต" (BARIJAT) จะเคลื่อนผ่านเกาะฮ่องกง เกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งที่เวียดนามในช่วงวันที่ 13-14 ก.ย. 2561 และพายุไต้ฝุ่น "มังคุด" (MANGKHUT) จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย. 2561 ซึ่งจะส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก



ไต้ฝุ่น


"ศูนย์เฉพาะกิจฯ ประเมินสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักเนื่องจากอิทธิพลพายุดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายขอบของประเทศบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันตก ที่อาจจะได้รับผลกระทบในพื้นที่เดิม รวมถึงเขื่อนต่าง ๆ ที่ยังมีปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์ควบคุมหรือเต็มในขณะนี้ ซึ่งอาจจะมีน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการระบายจากอ่างเก็บเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำซ้ำพื้นที่น้ำท่วมบริเวณเดิม เช่น เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเตรียมแผนรองรับล่วงหน้าด้วย ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ในการป้องกันสาธารณภัยบรรเทาผลกระทบ และการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบล่วงหน้าให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด แต่ทั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลดีต่ออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อย จะมีน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งจะช่วยให้ลุ่มเจ้าพระยามีน้ำใช้ในฤดูแล้งมากขึ้น" นายสำเริง กล่าว

ทั้งนี้ ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ณ เวลา 07.00 น. พบว่า ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ได้แก่ ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก 99 มม., สุโขทัย 67 มม., เพชรบูรณ์ 58 มม., พิจิตร 51 มม., น่าน 48 มม., เชียงราย 48 มม., กำแพงเพชร 47 มม., อุตรดิตถ์ 45 มม., แม่ฮ่องสอน 45 มม. ภาคกลาง จ.สมุทรปราการ 49 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สกลนคร 103 มม., นครพนม 75 มม., ร้อยเอ็ด 49 มม., ขอนแก่น 42 มม. ภาคตะวันออก ปราจีนบุรี 51 มม. ภาคตะวันตก กาญจนบุรี 46 มม. และภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช 43 มม., สตูล 42 มม., กระบี่ 41 มม.



e-book-1-503x62