ฝรั่งทิ้งหุ้น2แสนล้าน

13 ก.ย. 2561 | 01:01 น.
>> ก.ย.เทขายต่ออีก7.7พันล้าน-โวลุ่มเกือบตํ่าสุดรอบ1ปี
ตลาดหุ้นเดือนกันยายนลดลงกว่า 1.7% ฝรั่งยังขายหุ้นไทยต่อเนื่องอีก 7.7 พันล้านบาท ขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีรวม 2.09 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าซื้อขายลดลงเกือบตํ่าสุดรอบ 1 ปี โกลเบล็กมองดัชนีแกว่งตัว 1665-1710 เอเซียพลัสเผยหุ้นได้ประโยชน์จากค่าบาทอ่อน กลุ่มส่งออกเด่น VNG, KCE, TU  ส่วนโรงไฟฟ้า-ปิโตรฯรับผลกระทบบาทอ่อน
ดัชนีตลาดหุ้นไทยตั้งแต่วันที่ 1-10 กันยายน 2561 ลดลง 30.07 จุด หรือ -1.74% จากระดับ 1721.58 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 ลดลงมาเหลือ 1691.51 เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนถึงปัจจุบันอยู่ที่  7,777 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 5,582 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 11,995 ล้านบาท โบรกเกอร์ซื้อสุทธิ 1,364 ล้านบาท MP17-3400-A

ทั้งนี้ จากต้นปีถึงปัจจุบันเงินทุนไหลออกสุทธิ 2.09 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทย ถือว่าไหลออกมากที่สุดรองจากไต้หวัน มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ลดลงจากต้นเดือน 301,686 ล้านบาท อยู่ที่ 17,114,493 ล้านบาท และค่าเงินบาท ณ วันที่ 10 กันยายน อยู่ที่ 32.83-32.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงประมาณ 0.10-0.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 32.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม

นายพบชัย ภัทราวิชญ์ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด ให้ความเห็นว่า ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนรอบใหม่ที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะยืดเยื้อไปจนถึงช่วงเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายน 2561 อาจมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยบ้างแต่ไม่มากนัก

ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยปรับฐาน มาจากความกดดันในเรื่องของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ อาทิ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย เมื่อเกิดปัญหาขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว ทำให้เกิดมุมมองเชิงลบต่อประเทศในตลาดเกิดใหม่ และเงินทุนต่างชาติไหลออก อย่างไรก็ตามมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ยังคงดีต่อเนื่อง จึงไม่น่ากังวลมาก

บล.กสิกรไทยฯ ระบุว่ามูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นลดน้อยลงใกล้ระดับตํ่าสุดในรอบ 1 ปี เหลือ 3.3 หมื่นล้านบาท (จากที่เคยตํ่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท) แต่คาดว่าจะดีขึ้นจากการรับรู้ปัจจัยบวก ข้อพิพาทการค้าไม่แย่ไปกว่าที่ตลาดคาดการณ์ กระแสเงินชะลอการไหลออกจากตลาดเกิดใหม่หากธนาคารกลางตุรกีตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย และประเด็นเส้นทางการเลือกตั้งในไทยที่ชัดเจนมากขึ้น คาดว่าจะทำให้มีแรงซื้อกลับมาหนุนดัชนีให้ขึ้นไปทดสอบ 1700 และ 1730 ได้

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก จก. หรือ GBS กล่าวว่า ตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ได้รับปัจจัยบวกจากกระทรวงการคลังยื่นไฟลิ่งตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานกองแรกของประเทศ วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเปิดขายราวสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม และจะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ หนุนแหล่งเงินทุนสำหรับเมกะโปรเจ็กต์ที่ทยอยเปิดประมูล บล.โกลเบล็กฯ คาดว่าดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้จะผันผวนในกรอบ 1665-1710

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัสฯ มองว่าจากปัจจัยค่าเงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ส่งออกสุทธิ และมีรายได้ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับเข้าสู่ช่วงฤดูกาลส่งออก กลุ่มที่มีรายได้สุทธิสกุลดอลลาร์จะได้ประโยชน์ โดยทุกๆ 1 บาทของเงินที่อ่อนค่า กำไรบจ.ที่เพิ่มขึ้นมากสุด คือ VNG, KCE, TU, CPF, SCCC, SVI และ THCOM, GFPT

ขณะที่บริษัทที่มีต้นทุนสุทธิสกุลดอลลาร์สหรัฐฯจะได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มขนส่งและสายการบิน ได้แก่ THAI, AAV รวมถึงบริษัทที่มีหนี้สินสุทธิสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะกระทบเช่นกัน เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า ได้แก่ BGRIM, BCPG, EGCO, RATCH, GLOW และกลุ่มปิโตรเคมี ได้แก่ PTTEP, PTT, TOP, IRPC, PTTGC

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,400 วันที่ 13-15 กันยายน 2561