พาณิชย์เร่งแผนดันค้าอี-คอมเมิร์ซทั่วไทยสู่เป้าหมาย 3 ล้านล้าน

12 ก.ย. 2561 | 02:49 น.
จากโลกยุคดิจิตอลที่ทำให้การค้าออนไลน์หรืออี-คอมเมิร์ซได้เข้ามามีบทบาทและพลิกโฉมหน้าการทำธุรกิจและการค้าทั้งในและต่างประเทศของไทยให้สามารถติดต่อเชื่อมประสานกันได้อย่างง่ายดาย ไร้พรมแดน สร้างช่องทางโอกาสในการทำธุรกิจการค้าให้กับผู้ประกอบการของไทยทั้งรายใหญ่ กลาง เล็ก และวิสาหกิจชุมชนคนฐานรากของไทยได้อีกมหาศาล ซึ่งกระทรวงพาณิชย์แม่งานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(อี-คอมเมิร์ซ)ของประเทศ นอกจากจะได้สร้างแพลตฟอร์ม Thaitrade.com ให้เป็นศูนย์กลางการค้าออนไลน์ของประเทศที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ล่าสุดในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมที่ผ่านมายังได้จัดงาน E-commerce Big Bang ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค(กรุงเทพฯ สงขลา เชียงราย อุดรธานี)รวม 4 ครั้ง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตัวเล็กในทุกภาคของไทยให้สามารถผงาดบนโลกอี-คอมเมิร์ซได้

พันธมิตรแห่ร่วมดันงานสำเร็จ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการจัดงาน E-Commerce Big Bang ทั้ง 4 ครั้งข้างต้นได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการทั้งในกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาค โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมรวม 2,058 ราย  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรมากมาย อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมสหกรณ์,  eBay, บริษัท ซีแมนทิค ทัช จำกัด (BentoWeb), บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อปฯ (เทพช้อป), ตลาด ดอท คอม, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส จำกัด, บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)รวมถึงธนาคารและบริษัทห้างร้านต่างๆ

“กระทรวงพาณิชย์เชื่อมั่นว่าการจัดงาน E-Commerce Big Bang จะสามารถสนับสนุนการค้าในรูปแบบอี-คอมเมิร์ซ
ของไทยเพื่อสร้างระบบการค้าออนไลน์ให้สามารถเข้าถึงชุมชนในชนบท ตลอดจนพัฒนาศักยภาพแก่ชนบทในการเข้าถึงตลาดโลกทั้งในการจำหน่ายสินค้าจากผลิตภัณฑ์ชุมชน และการเข้าถึงตลาดนักท่องเที่ยวทั่วโลก อันจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในชนบท โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ คนตัวเล็ก และเกษตรกรที่จะเข้ามาเป็นแม่ทัพหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ผ่านการสานพลังประชารัฐที่เกิดจากการผนึกกำลังกับภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมทุกภาคส่วน”

สำหรับสิ่งที่กระทรวงจะดำเนินการเพื่อกระตุ้นการเข้าสู่การค้าอี-คอมเมิร์ซของคนไทยช่วงจากนี้ไปที่สำคัญคือ จะบูรณาการการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศทั่วโลกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับวงการอี-คอมเมิร์ซไทย และส่งเสริมให้คนไทยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากอี-คอมเมิร์ซได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซของประเทศคือThaitrade.com ภายในอนาคตอันใกล้นี้ โดยร่วมมือใน 3 ด้านหลักคือ

ด้านที่ 1 e-Payment : รองรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต/เดบิตทุกธนาคาร การชำระเงินผ่านผู้ให้บริการ e-Wallet และพร้อมรองรับการชำระเงินออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

ด้านที่ 2  e-Logistics : เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในไทย อาทิ  ไปรษณีย์ไทย, Shippop, SCG Express, Ninja,  Skootar, Alpha, Thai Pacel รวมทั้งร่วมมือกับผู้ให้บริการทางด้านการขนส่งที่มีความเชี่ยวชาญและเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก เช่น ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส และขยายต่อไปยังผู้ให้บริการขนส่งไทยที่มีความพร้อม

ด้านที่  3e-Marketplace : เชื่อมโยงกับห้างสรรพสินค้าออนไลน์ต่างๆ ภายในประเทศทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยเปิดเป็น Gateway ให้สามารถเชื่อมระบบการค้นหาสินค้าจากทุกเว็บไซต์พันธมิตรและแสดงผลได้จากที่เดียว โดยนำร่องเชื่อมระบบของ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เว็บไซต์ของดีทั่วไทย) บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) บริษัท ซีแมนทิค ทัช จำกัด(BentoWeb) บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู ช็อป จำกัด (เทพช้อป) บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด(Tarad.com) สำนักพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(BEDO) และเว็บไซต์ตลาดต่อยอด และยินดีจะเชื่อมกับพันธมิตรอื่น ๆที่พร้อมทำงานร่วมกันในอนาคต

จุดแข็ง-จุดอ่อนไทย

สำหรับจุดแข็งของการค้าอี-คอมเมิร์ซไทย ณ ปัจจุบัน นายสนธิรัตน์ กล่าวว่ามีหลายด้าน ได้แก่ 1.สินค้าและบริการที่นำเสนอมีคุณภาพดี มีความหลากหลาย และมีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อได้ดี 2.มีแพลตฟอร์มให้เลือกใช้งานหลากหลาย สะดวกต่อการใช้งาน มีบริการที่ตอบสนองการใช้งานของผู้ซื้อผู้ขายหลายแบบ รวมทั้งมีแพลตฟอร์มของรัฐและเอกชนที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้มีพื้นที่ในการขยายธุรกิจ 3.การส่งมอบสินค้า ปัจจุบันระบบโลจิสติกส์ของไทยรองรับอี-คอมเมิร์ซมากขึ้นมีผู้ให้บริการหลากหลายทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น Kerry Express, Lala Move หรือ Line Man ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและการให้บริการ ซึ่งคุณภาพการขนส่งที่ดีขึ้นนี้จะช่วยเพิ่มความต้องการให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น และ 4. จำนวนการใช้โทรศัพท์มือถือ(สมาร์ทโฟน)ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปีส่งผลให้การใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กเพิ่มมากขึ้นทุกปีเช่นกัน

11

ส่วนจุดอ่อนของอี-คอมเมิร์ซไทยคือ 1.การชำระเงินออนไลน์ ปัญหาหลักคือผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจที่จะทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ ยังเป็นสังคมใช้เงินสดเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ 2.ความพร้อมของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังยึดติดกับการค้าในรูปแบบดั้งเดิม ขาดการปรับตัวนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) และนวัตกรรมมาปรับใช้ในการทำธุรกิจ และยังมีข้อจำกัดด้านภาษาอังกฤษ ขาดข้อมูลการตลาดเชิงลึก ทำให้เสียโอกาสการขยายตลาดไปต่างประเทศ 3. การอำนวยความสะดวกทางการค้า ประเทศไทยขาดระบบ มาตรฐาน และกลไกที่เอื้อต่อการอำนวยความสะดวกทางการค้า(e-Trade Facilitation) เช่น การรับรองการตรวจสอบ หรือการอนุญาตต่างๆ ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายภายในหรือภายใต้กติการะหว่างประเทศ ยังคงใช้เวลาและมีภาระที่ต้องทำทั้งในระบบกระดาษและระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคู่กัน และ 4.การสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการค้าออนไลน์ ยังขาดการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างแรงจูงใจที่เป็นรูปธรรม และเห็นผลเร็วในระยะสั้น การวางแผนในระยะกลางและระยะยาวที่ต้องมีความต่อเนื่อง แต่ต้องพร้อมปรับให้เหมาะกับยุคสมัย อีกทั้งราคาอินเตอร์เน็ตยังสูง ยังไม่เสถียร และยังไม่ทั่วถึง

เป้าไทยเทรดฯพุ่ง1หมื่นล.

อย่างไรก็ดีในส่วนของแพลตฟอร์ม Thaitrade.com ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าออนไลน์ของประเทศนับตั้งแต่เริ่มโครงการมาในปี 2554 ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง โดยข้อมูลสะสมถึง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 มีมูลค่าการซื้อ-ขายที่มีหลักฐานรวมทั้งสิ้น 5,225 ล้านบาท สำหรับเป้าหมายในปี 2561-2564  ได้ตั้งเป้าหมายจำนวนสมาชิกผู้ขายไทยจะเพิ่มขึ้น 3 หมื่นราย จำนวนสมาชิกผู้ซื้อจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2 แสนราย จำนวนผู้ใช้บริการ Thaitrade.com เพิ่มขึ้น 5 ล้านราย ส่งเสริม ให้คำปรึกษา และพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีให้สามารถใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ได้ไม่น้อยกว่า 1 แสนราย และสร้างมูลค่าการค้าออนไลน์ไม่น้อยกว่า1 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้หลังจากที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเปิดตัว 3 แพลตฟอร์มใหม่ไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 นั้น ได้แก่ 1.Thaitrade.com โฉมใหม่ 2.Thaitrade SOOK (Small Order Ok) และ 3.Thaitrade Shop พบว่ามีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ช่วงวันที่ 7 มิถุนายน -27 สิงหาคม 2561 กว่า 3.88 แสนราย เพิ่มขึ้น 69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มที่เข้าชมมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 25-35 ปี และมีผู้ประกอบการไทยที่สนใจสมัครเป็นสมาชิกผู้ขายบนเว็บไซต์ดังกล่าวกว่า 1,000 ราย โดยเดือนกรกฎาคม 2561 มีผู้สนใจสมัครสูงที่สุดในรอบปีนี้ นอกจากนี้ยังมีจำนวนความต้องการซื้อ (Buying Request) บนเว็บไซต์ Thaitrade.com ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีมูลค่าความต้องการซื้อสูงถึง 288.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

1

อี-คอมเมิร์ซไทยพุ่ง 3 ล้านล.

ขณะที่มูลค่าการค้าอี-คอมเมิร์ซของไทย จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่าในปี 2560 ไทยมีมูลค่าอี-คอมเมิร์ซทั้งสิ้น 2.81 ล้านล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นมูลค่าประเภท B2B ประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 59.5% รองลงมาเป็นมูลค่าประเภท B2C มากกว่า 8.12 แสนล้านบาท หรือสัดส่วน 28.8% และที่เหลืออีกราว 3.24 แสนล้านบาท หรือสัดส่วน 11.5% เป็นมูลค่าธุรกิจประเภท B2G

“เมื่อเทียบมูลค่าอี-คอมเมิร์ซของปี 2560 กับปี 2559 จะพบว่ามูลค่าประเภท B2B มีการเติบโต 8.6% เช่นเดียวกับประเภท B2C ที่โตขึ้น 15.5% ทั้งนี้ ETDA ได้มีการคาดการณ์มูลค่าอี-คอมเมิร์ซไทยในปี 2561 ไว้ที่ 3.05 ล้านล้านบาท”

หน้า 3 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,399 วันที่ 9 - 12 กันยายน พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว