“พาณิชย์” พบ “ทูตนิวซีแลนด์” พร้อมจับมือขยายการค้าการลงทุน

11 ก.ย. 2561 | 09:30 น.
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับนายทาฮาโมอานา ไอเซอา คลูนี แมกเฟอร์ซัน เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย เพื่อหารือความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ และการประชุมคณะกรรมาธิการความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทยและนิวซีแลนด์ (TNZCEP) ครั้งที่ 8 ที่นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเวลลิงตัน ระหว่างวันที่ 10-11 กันยายนนี้

[caption id="attachment_315865" align="aligncenter" width="503"] อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ[/caption]

ทั้งนี้ ไทยและนิวซีแลนด์ ถือเป็นพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 60 ปี และมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีก  จึงได้เชิญชวนให้นิวซีแลนด์เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่นิวซีแลนด์มีศักยภาพและเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เช่น การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมโยงไปสู่ตลาดในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเรื่องการรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 ซึ่งนิวซีแลนด์ยินดีสนับสนุนบทบาทของไทยและกิจกรรมที่ไทยจะจัดขึ้นในฐานะประธานอาเซียน นอกจากนี้ ยังได้หารือเรื่องการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเวลลิงตัน

nz1

“ในวันที่ 10 - 11 กันยายน 2561 นี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ติดตามการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงเอฟทีเอระหว่างไทยและนิวซีแลนด์ และหารือประเด็นสำคัญด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงข้อมูลและประสบการณ์ของนิวซีแลนด์ในการเจรจาจัดทำความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership : CPTPP)”

ในปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและนิวซีแลนด์อยู่ที่ 2,282 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้นกว่า 194.78% นับจากความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ ไม้ซุง ไม้แปรรูป เนื้อสัตว์ และอาหารปรุงแต่งสำหรับเลี้ยงทารก

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว