ซีอีโอปตท.ป้ายแดง

14 ก.ย. 2561 | 10:10 น.
เร่งปั้นบุคลากรรับ นิว เอส-เคิร์ฟ

รายงาน

CEOPTT
11 ก.ย.61-ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนที่ 9 หลังเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีระยะเวลาในการบริหารปตท.เป็นเวลา 1 ปี กับ 8 เดือน

สิ่งแรกที่เป็นการดำเนินงานเร่งด่วน นายชาญศิลป์ จะเข้ามาสานต่อการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของ ปตท. ที่ได้วางไว้จากรุ่นสู่รุ่น โดยปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความท้าทายต่างๆ ทั้งปัจจุบันและอนาคต
ชูนโยบายผลักดันองค์กร

นายชาญศิลป์ ได้สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินงานจากนี้ไป จะอยู่ภายใต้นโยบาย CHANGE for Future of Thailand 4.0 ที่มีองค์ประกอบ 6 ด้าน ประกอบด้วย Continuity สานต่อเพื่อความต่อเนื่อง เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง, Honesty ความซื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรม ผู้บริหารและพนักงานทุกคน ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์, Alignment ขยายความร่วมมือ เพิ่มความมั่นคงและยั่งยืน, New Innovation Solution สร้างสรรค์สิ่งดีและสิ่งใหม่ หาธุรกิจที่เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จใหม่ (New S-Curve), Good Governance กำกับดูแลดี มีประสิทธิภาพ ยึดมั่นการดำเนินงานตามหลักธรรมา ภิบาล เน้นความโปร่งใส เที่ยงตรง เป็นธรรม และตรวจสอบได้ และ Excellence Team Work สร้างคนรุ่นใหม่ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มุ่งพัฒนาพนักงานทุกรุ่นให้สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม
ยึดหลัก 3D ต่อยอดธุรกิจ

โดยจะยังใช้ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจแบบ 3D คือ Do now, Decide now และ Design now เป็นธงหลักในการดำเนินงาน ที่เริ่มจาก Do now จะเน้นการสร้างความแข็งแกร่งในส่วนที่มีความชำนาญ โดยเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน และร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ซึ่งในปี 2561 ตั้งเป้าจำนวนสถานีบริการนํ้ามัน ปตท. ไว้ที่ 1.8 พันแห่ง และเพิ่มเป็น 2.5 พันแห่งภายในปี 2565 ขณะที่ร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มเป็น 2.3 พันแห่ง และเพิ่มเป็น 4 พันแห่งภายในปี 2565

กลยุทธ์ Decide now เป็นการต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งธุรกิจนํ้ามัน ภายใต้แนวคิด Life Station ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย และธุรกิจที่ไม่ใช่นํ้ามัน (นอนออยล์) นำมาสเตอร์แฟรนไชส์ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม

ด้านกลยุทธ์ Design now ลงทุนใน New S-Curve เพื่อการเติบโตในระยะยาว ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยีใหม่ พฤติกรรมผู้บริโภค แนวโน้มการใช้พลังงานสะอาด และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0
ย้ำความโปร่งใส-ยั่งยืน

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและความท้าทายในอนาคต ปตท. จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนพร้อมทั้งร่วม เป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และสอดรับกับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศภายใต้ “ประเทศไทย 4.0”

ทั้งนี้ ปตท. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความยั่งยืน 3 ด้าน (3P) อย่างสมดุล คือ การทำธุรกิจควบคู่กับการดูแลชุมชนและสังคม (People) การอนุรักษ์รักษาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และเป็นฐานความมั่นคงให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน (Prosperity)
ตั้งตำแหน่ง GRC ดูแลองค์กร

นายชาญศิลป์ ชี้ให้เห็นว่า กรณีบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC (ปตท. ถือหุ้น 48%) ที่ตรวจพบในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทส่อไปในทางทุจริต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการประเมินการควบคุมภายในของกระบวนการจัดหาวัตถุดิบและการบริหารสินค้าคงคลัง คาดว่าจะสามารถรายงานผลได้ภายในปลายเดือนกันยายนนี้

“ปตท. คงไม่สามารถทำให้ใครเป็นคนดีได้ทั้งหมด เมื่อคนภายนอกโกง เราก็คงไม่ปล่อยต้องมีกระบวนการตามกฎหมาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตั้งตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์(GRS) เข้ามากำกับดูแลองค์กร เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก” นายชาญศิลป์ กล่าว

ส่วนกรณีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เข้าซื้อหุ้นบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ยืนยันว่าไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศที่ 4 หมื่นเมกะวัตต์ เทียบกับ GPSC เมื่อรวมกับโกลว์ จะอยู่ที่ประมาณ 5 พันเมกะวัตต์ คิดเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ

โดย GPSC ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าป้อนให้กับนิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่ยุคมาบตาพุดเฟส 1-3 ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 1.9 พันเมกะวัตต์ ขณะเดียวกันโกลว์เปลี่ยนนโยบายการลงทุนในไทยแต่จะเน้นโมเดลใหม่จึงต้องการขายธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่ง GPSC มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าป้อนนิคมอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าของโกลว์ก็อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ที่ปัจจุบันขายไฟฟ้าให้กับโรงงานในนิคมฯเกือบทั้งหมด ขายเข้าระบบน้อยมาก ดังนั้นภายหลังจาก GPSC ซื้อกิจการโกลว์แล้วจะไม่มีอำนาจเหนือตลาดแต่อย่างใด
ดันถ่านหินเข้าตลาดอินโดฯ

สำหรับความคืบหน้าธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ปัจจุบันราคาถ่านหินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ในอนาคตยังไม่มีความแน่นอน ดังนั้นการลงทุนจำเป็นต้องระมัดระวัง ปตท.จึงต้องลดต้นทุนการผลิตลง ส่วนการพิจารณาเพื่อการนำธุรกิจถ่านหินเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียนั้นอยู่ในกระบวนการศึกษา คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 1-2 ปี 2562

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,400 วันที่ 13-15 กันยายน 2561