อาลีบาบา ในวันไม้ใหญ่ผลัดใบ ‘แจ็ค หม่า’เปิดใจ รากฐานธุรกิจแข็งแกร่งพอ

12 ก.ย. 2561 | 09:11 น.
แฮปปี้ เบิร์ธเดย์ แจ็ค หม่า! บ๊ายบาย อาลีบาบา! วันจันทร์ที่ 10 กันยายน 2561 เป็นวันคล้ายวันเกิด ครบรอบปีที่ 53 ของนายแจ็ค หม่า ผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบา กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซระดับโลกจากประเทศจีน และวันนี้เช่นกันที่เขาเลือกเป็นวันประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ (Executive Chairman) ของอาลีบาบาภายในเวลา 1 ปี โดยจะดันนายแดเนียล จาง ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ (Chief Executive Officer) ของอาลีบาบาตั้งแต่ปี 2558 ให้ขึ้นมารับตำแหน่งนี้แทน เพื่อที่เขาจะสามารถค่อยๆ วางมือและลดบทบาทของตัวเองออกจากงานด้านการบริหารไปทำงานด้านสาธารณกุศลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการศึกษาซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแจ็ค หม่า เคยเป็นครูมาก่อนเมื่อสมัยที่ยังไม่ได้บุกเบิกธุรกิจด้านอี-คอมเมิร์ซ

การสืบตำแหน่งมีผลในปีหน้า

การวางมือจากตำแหน่งประธานกรรมการไม่ได้หมายความว่าเขาลาออกจากบริษัทหรือเกษียณตัวเองแต่อย่างใด แจ็ค หม่า ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ หรือ SCMP ซึ่งเป็นสื่อที่อาลีบาบาถือหุ้นใหญ่ตั้งแต่ปี 2559 ว่า จะมีช่วงเวลาเปลี่ยนถ่ายงานบริหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งก็ไม่ได้ระบุว่าจะเป็นกี่ปี แต่นับจากนี้เขาก็ยังคงทำงานอยู่กับบริษัท และจะลดบทบาทลง เหมือนกับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว (ในปี 2556) ซึ่งเป็นปีที่เขาลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ แต่ก็ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอยู่

TP10-3340-A การสละตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทของแจ็ค หม่า ที่ประกาศในวันนี้ จะมีผลในปีหน้า (คือวันที่ 10 กันยายน 2562) ซึ่งเป็นปีที่อาลีบาบา กรุ๊ป ฉลองครบรอบก่อตั้ง 20 ปี และเขาจะยังคงเป็นสมาชิกบอร์ดบริหารของบริษัทไปจนถึงการประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นในปี 2563 หลังจากนั้นก็จะยังคงสมาชิกภาพของกลุ่ม “หุ้นส่วนตลอดชีพของอาลีบาบา” หรือ Alibaba Partnership ที่มีสมาชิก 36 คนและแต่ละคนล้วนมาจากระดับผู้บริหารอาวุโสของบริษัทหรือบริษัทในเครือทั้งสิ้น

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องปุบปับฉับพลัน แจ็ค หม่า คุยเรื่องนี้กับผู้บริหารระดับอาวุโสคนอื่นๆของอาลีบาบามากว่า 10 ปีแล้ว ว่าบริษัทจะเป็นอย่างไร ไปในทิศทางไหน ในวันที่ไม่มีเขา “ผมภูมิใจมากที่วันนี้อาลีบาบามีโครงสร้างบริษัท มีวัฒนธรรมองค์กร มีการบริหารที่โปร่งใส และมีระบบที่จะบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ซึ่งบรรยากาศแบบนี้เปิดโอกาสให้ผมสามารถถอยออกมาโดยไม่ทำให้งานสะดุดหรือติดขัด”

อาลีบาบาโดยกัปตันจาง     

แดเนียล จาง เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ก่อนจะมาเป็นซีอีโอของบริษัทในปี 2558 ต่อจากนายโจนาธาน หลู (โจนาธานรับไม้ต่อตำแหน่งซีอีโอ จากแจ็ค หม่า และดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2556-2558) เขาเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ภายใต้แนวคิดของแจ็ค หม่า ที่เคยกล่าวไว้ว่า ในอนาคตองค์กรต้องขับเคลื่อนโดยคนที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1970 หรือหลังจากนั้น (แดเนียล จาง เกิดปีค.ศ. 1972) และการลงจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทของแจ็ค หม่า ในครั้งนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า อาลีบาบา กรุ๊ป ซึ่งปีงบประมาณที่ผ่านมา ทำรายได้ 39,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 1.3 ล้านล้านบาท) เป็นองค์กรที่มีพัฒนาการก้าวพ้นการเป็นองค์กรที่พึ่งพาตัวบุคคล ไปสู่การเป็นองค์กรที่เติบโตจากพื้นฐานที่ยอดเยี่ยมและมีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมความก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ

090861-1927-9-335x503-335x503 ในจดหมายที่มีถึงลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้นของอาลีบาบา แจ็ค หม่า กล่าวถึงแดเนียล จาง ผู้ซึ่งทำงานร่วมกับอาลีบาบา กรุ๊ป มาถึง 11 ปี และกำลังจะมารับสืบทอดตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทในปีหน้า ว่าเป็นมืออาชีพที่เปี่ยมด้วยความสามารถ  มีความเฉียบคมทางธุรกิจ เป็นผู้นำที่มุ่งมั่น และภายใต้การนำของแดเนียล จาง (ในฐานะซีอีโอ) เขาทำให้บริษัทมีการเติบโตอย่างสมํ่าเสมอและยั่งยืนอย่างต่อเนื่องตลอด 13 ไตรมาสที่ผ่านมา ความคิดเชิงวิเคราะห์ของเขา ยากที่จะมีใครเทียบเทียม แดเนียล ให้ความสำคัญกับการสืบทอดพันธกิจและวิสัยทัศน์ที่ได้รับ และยังเปิดรับหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างกระตือรือร้น มีความกล้าที่จะคิดอะไรใหม่ๆ และทดสอบโมเดลทางธุรกิจที่สร้างสรรค์ สมกับที่ได้รับการยกย่องจากสื่อด้านธุรกิจของจีนให้เป็นซีอีโอเบอร์ 1 ประจำปี 2561 (No.1 CEO in 2018)

ปัจจุบัน อาลีบาบา กรุ๊ป เป็นอาณาจักรธุรกิจที่มีมูลค่าองค์กรมากที่สุดรายหนึ่งในระดับโลก ด้วยมูลค่าหุ้นรวม 420,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราคาปิดตลาด ณ วันที่ 7 กันยายน 2561) ภายใต้การกุมบังเหียนของซีอีโอแดเนียล จาง บริษัทเข้าขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรก (ไอพีโอ) ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ในปี 2557 สร้างสถิติบริษัทที่ทำไอพีโอได้สูงที่สุดและยังคงครองสถิตินั้นอยู่ แม้ว่าธุรกิจเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม แต่อาลีบาบาได้แตกหน่อธุรกิจในแขนงอื่นๆออกมาอีกมากมาย รวมทั้งธุรกิจฟินเทค ธุรกิจบันเทิง การท่องเที่ยว ค้าปลีก และล่าสุดคือธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มโดยการจับมือกับผู้ประกอบการดีลิเวอรีและพันธมิตรร้านกาแฟอย่างสตาร์บัคส์

................................................................................................

รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3400 | ระหว่างวันที่ 13 - 15 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว