'ดีแทค' ลุยคลื่นเทอร์โบ 2300 ออกมาตรการรับลูกค้าซิมดับ 3.4 แสนราย

13 ก.ย. 2561 | 06:07 น.
เป็นเพราะในวันที่ 15 ก.ย. 2561 สัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในย่านความถี่ 1800 และ 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่ ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิ์จาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท สิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561

อย่างไรก็ตาม ดีแทคได้ทำหนังสือเสนอแผนธุรกิจและแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานในเดือน ก.ย. นี้ หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558)

ไม่เพียงเท่านี้ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN บริษัทในเครือดีแทค ชนะประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ใบอนุญาต ขนาด 2X5 เมกะเฮิรตซ์ ในราคา 12,511 ล้านบาท ซึ่งการประมูลจัดขึ้นโดย กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)


เปิดศึกข้อพิพาท
ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน กสทช. ได้มีความพยายามจะเปิดประมูลคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ แต่ปรากฏว่า ดีแทคไม่ยื่นเงื่อนไขประมูลด้วยเหตุผลที่ว่า ใบอนุญาต 15 เมกะเฮิรตซ์ มีขนาดกว้างจนเกินไป สุดท้ายได้ปรับเกณฑ์เงื่อนไขประมูลส่วนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ไม่ได้ร่วมประมูล เพราะความไม่ชัดเจนเรื่องการป้องกันการรบกวนสัญญาณรถไฟความเร็วสูงยังไม่มีความชัดเจน

แม้ดีแทคร่วมประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ไปแล้ว แต่การไม่ร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ส่งผลให้มติบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา มีมติไม่รับสิทธิ์เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ

ทางเดียวที่ดีแทคทำได้ คือ ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อขอคุ้มครองผู้ใช้บริการดีแทคเป็นการชั่วคราว และศาลปกครองกลางไต่สวนในวันที่ 11 ก.ย. นี้



MP20-3400-1


"ดีแทคยื่นขอคุ้มครองไปตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. แต่ กสทช. ไม่รับการพิจารณา ขณะที่ก่อนหน้านี้ เอไอเอสได้คุ้มครองคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นระยะเวลา 9 เดือน ส่วนทรูและดีพีซี (ดิจิตอลโฟน) ได้รับเยียวยาคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์เป็นเวลา 26 เดือน แต่ดีแทคกลับจะไม่ได้รับการเยียวยา"

อย่างไรก็ตาม การประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ดีแทคพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล เพียงแต่ต้องมีความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำระบบป้องกันสัญญาณรบกวนรถไฟความเร็วสูง

"เพราะถ้าเปรียบเทียบคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ เหมือนเครื่องยนต์เบนซิน ส่วนคลื่น 900 เป็นเครื่องยนต์ดีเซล จะให้ปรับเปลี่ยนระบบในทันทีทันใดก็ไม่ได้ ที่สำคัญลูกค้า 340,000 ราย เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ใช้ในพื้นที่ห่างไกล พฤติกรรมผู้บริโภคไม่ย้ายระบบ" แหล่งข่าวจากดีแทค ให้ความเห็น


090861-1927-9-335x503-3

รับมือ "ซิมดับ"
อย่างไรก็ตาม ผลของข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทาง "ดีแทค" ออกมายํ้าหลายครั้งว่า จะไม่เกิดปรากฏการณ์ "ซิมดับ" พร้อมทั้งทุ่มงบประชาสัมพันธ์ยิงโฆษณาผ่านสื่อทีวี รวมทั้งชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊กของดีแทคด้วยว่า

"เนื่องจากสถานการณ์ที่สัมปทานคลื่นมือถือบางส่วนของเรากำลังจะหมดลง และอาจทำให้ลูกค้าดีแทคบางส่วนได้รับผลกระทบ เราจึงต้องขออภัยลูกค้าอย่างสูง ที่ทำให้เกิดความกังวลใจ และขอชี้แจงดังนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว เราได้ทำการขยายบริการ 4G บนคลื่น 2100 และ 2300 เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด แต่ระหว่างที่เราเร่งขยายบริการในช่วงนี้ ลูกค้าบางส่วนอาจได้รับผลกระทบในการใช้งานชั่วคราวในบางพื้นที่ ดีแทคได้เตรียมแผนที่จะคอยดูแลลูกค้าเอาไว้แล้ว และได้เริ่มติดต่อไปยังลูกค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบนี้ เรามุ่งมั่นและเร่งทำงานอย่างหนักเพื่อดูแลลูกค้าของเราให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วัน และเราจะคอยรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและตรงไปตรงมาเสมอ ผู้บริหารและพนักงานดีแทคขอขอบคุณลูกค้าทุกท่าน"


ออกมาตรการคุ้มครอง
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอการพิจารณาของศาล ดีแทคได้วางมาตรการในการคุ้มครองลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบ โดยดีแทคจะดำเนินการแจ้งลูกค้าในรายที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ไม่ได้รับการคุ้มครองคลื่นความถี่จาก กสทช.



MP20-3400-2


นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงข่าย ดีแทคได้เร่งขยายเสาสัญญาณคลื่นดีแทคเทอร์โบ 2300 MHz ของทีโอทีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคลื่นดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการดาวน์โหลดสูงสุดในประเทศไทย ด้วยความกว้างแบนด์วิดธ์ถึง 60 MHz และปัจจุบัน สามารถให้บริการครอบคลุม 40% ของประชากรทั้งประเทศแล้ว เพื่อทดแทนประสิทธิภาพของคลื่น 1800 MHz

ขณะเดียวกัน ดีแทคยังได้เร่งขยายโครงข่าย 2100 MHz อย่างเต็มความสามารถ เพื่อทดแทนประสิทธิภาพของคลื่น 850 MHz และยังได้ย้ายลูกค้าจำนวน 340,000 ราย ที่ยังใช้ซิมดีแทคเดิมให้เปลี่ยนมาใช้ซิม DTN ภายใต้ระบบใบอนุญาต และได้จัดตั้งทีมทำงานขึ้นมาดูแลลูกค้าเป็นพิเศษในช่องทางศูนย์บริการ เป็นต้น


รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3400 | ระหว่างวันที่ 13 - 15 ก.ย. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว