รักษาน้ำ...อนุรักษ์ดิน

15 ก.ย. 2561 | 01:10 น.
 

Picture12

ดินและนํ้ายังเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และนํ้ากับดินเป็นทรัพยากรที่อยู่คู่กัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน  หากนํ้าดีดินก็ดี หากดินดีนํ้าก็ดี และยังช่วยคนที่อยู่กับดินและนํ้ามีชีวิตที่ดีไปด้วย กรมชลประทาน ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านทรัพยากรนํ้า จึงมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ดูแลรักษาทั้งสองอย่าง

จากหลักการทั่วๆ ไป การอนุรักษ์ดิน เราทำได้โดย 1. ลดอัตราการกัดกร่อนของดิน 2. เพิ่มหรือรักษาระดับปริมาณของธาตุอาหารและอินทรีย์วัตถุในดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 3. ปรับปรุงโครงสร้างของดินให้อยู่สภาพที่เหมาะสม และ 4. ทำให้สามารถใช้นํ้าอย่างประหยัด

ส่วนการอนุรักษ์นํ้า 1. ลดการป้องกันการสูญเสียนํ้าโดยการระเหยของนํ้าบนผิวดิน 2. เพิ่มแหล่งกักเก็บนํ้าเพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้นนานที่สุด และ 3. ให้มีการใช้นํ้าอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด

วิธีการอนุรักษ์ดินและนํ้า แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การรักษาโดยใช้ระบบพืช เป็นวิธีการจัดระบบพืช โดยผสมผสานกันระหว่างมาตรการอนุรักษ์ดินและนํ้าและการจัดการระบบพืชปลูก และอีกวิธีคือ การใช้วิธีกล มุ่งหนักไปในการก่อสร้างสิ่งกีดขวางความลาดชันของพื้นที่ เพื่อสกัดกั้นนํ้าไหลบ่าและการพังทลายของดิน การอนุรักษ์ โดยการวิธีกลนี้ เป็นการป้องกันการชะล้างพังทลายได้ทันที แต่เสียค่าใช้จ่ายสูง และในระหว่างก่อสร้างต้องพิถีพิถันทำให้ดี มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้นไปอีก ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี

“มหิทธิ์ วงศ์ษา” นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ (ส่วนสิ่งแวดล้อม) สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน อธิบายว่า เมื่อดินถูกใช้งานไปมากๆ ดินย่อมเสื่อมคุณภาพลง การเสื่อมคุณภาพของดินจะมีผลต่อการเกษตรกรรม การอนุรักษ์ดินและนํ้าจึงต้องทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงบำรุงดิน

 

Picture13 การอนุรักษ์ดินและนํ้า คือ การจัดการเรื่องระบบดิน ระบบการปลูกพืช เช่น ถ้าดินที่ลาดเอียง ก็ต้องจัดการให้เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด กรมชลประทานจึงมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเพื่อดำเนินการ งบประมาณสำหรับในพื้นที่ชลประทาน กำหนดให้การอนุรักษ์ดินและนํ้าและการปรับปรุงบำรุงดิน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการเกษตร การที่จะดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาระบบชลประทาน ต้องรู้ก่อนว่าดินเป็นอย่างไร

ดินลาดเอียง ชนิดดิน ฯลฯ เป็นสิ่งที่กรมชลประทานศึกษาวิจัย เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชได้ตรงกับดิน ถ้าดินกับพืชคุณสมบัติไม่ตรงกัน ผลผลิตจะไม่ดี หรืออาจปลูกไม่ขึ้นเสียด้วยซํ้า ถึงแม้จะมีองค์ประกอบมากมายที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ แต่คุณภาพผลผลิตก็มาจากปัจจัยหลักคือดิน

ช่วงเริ่มต้นของการวางแผนพัฒนาการเกษตร  จึงต้องดูความเหมาะสมของดินเป็นอันดับแรก ดูว่าดินนั้นเหมาะแก่การปลูกพืชชนิดใด หากปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับดิน ก็อาจทำให้พืชเจริญเติบโตได้ไม่ดี ไม่ใช่เติมทุกอย่างจนบางอย่างเกินพอดี ข้อดีอย่างหนึ่ง คือ เกษตรกรประหยัดงบประมาณได้พอสมควร นอกจากนี้ ยังมีการเก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ว่ามี ธาตุอาหารพืชอะไรบ้าง มีปริมาณมากน้อยขนาดไหน เพื่อนำไปวางแผนการใส่ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ก็เป็นเรื่องที่กรมชลประทานเล็งเห็นว่า จะสร้างความยั่งยืนให้ทั้งดินและนํ้า ตลอดจนคุณภาพชีวิตคนและสิ่งแวดล้อม ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยบำรุงดินโดยไม่ทำลายดิน เพราะฉะนั้น การพัฒนาการเกษตรในระบบชลประทาน กรมชลประทานดูแลครบวงจร เรื่องดินและนํ้าจะช่วยให้การทำการเกษตรมีผลผลิตที่ดี เมื่อผลผลิตดีเกษตรกรก็จะ
มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

เท่าที่ผ่านมาการอนุรักษ์ดำเนินการได้อย่างไม่มีปัญหา ไร้อุปสรรค นั่นก็เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจ และการให้ความรู้เกษตรกรเพื่ออยู่ร่วมกับดินและนํ้าอย่างยั่งยืน

หน้า 26-27 ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,400 วันที่ 13 - 15 กันยายน พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว