ผู้นำต้องเปิดรับสิ่งใหม่

15 ก.ย. 2561 | 01:20 น.
ประสบการณ์ไม่ใช่เกณฑ์การตัดสิน

ดีแทค แอคเซอเลอเรท โครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพที่ปัจจุบันถือเป็นหน่วยงานที่แวดวงสตาร์ตอัพรู้จักเป็นอย่างดี และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่ 7 ของการจัดโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพเมืองไทย ภายใต้การบริหารจัดการของ “สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์” กรรมการผู้จัดการ ดีแทค แอคเซอเลอเรท ที่ผันตัวจากนักการเงิน มาสู่เทรนด์ของการสร้างคนรุ่นใหม่

“สมโภชน์” เล่าว่า จากการเกิดขึ้นของดีแทค แอคเซอเลอเรท เมื่อกว่า 6 ปีก่อน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2555 ตอนนี้บริษัทเติบโตมาก มีบริษัทสตาร์ตอัพในพอร์ตถึง 45 ทีม มูลค่าบริษัทโดยรวมเกือบทะลุ 5,000 ล้านบาท และปลายปีนี้จะทะลุ 5,000 ล้านบาทแน่นอน โดย 70% ของบริษัทที่อยู่กับดีแทค แอคเซอเลอเรท มีนักลงทุนมาร่วมลงทุนต่อ เทียบกับในตลาดไทยและเซาธ์อีสต์เอเชียมีแค่ 20 % เท่านั้นเองที่มีคนมาร่วมลงทุนด้วย เรียกว่า
สูงกว่าตลาดถึง 3-5 เท่า

6108236 (65)

ความโดดเด่นของดีแทค แอคเซอเลอเรท เกิดจากโอกาสในการเติบโตของเหล่าสตาร์ตอัพที่มีกว่า 70% การพัฒนาโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ตลาด (Product/Market Fit) และทีมที่ใช่ เพราะถ้าทีมไม่ใช่ หรือมีบางกรณี มีทีมที่สร้างสิ่งที่คนยังไม่ได้ใช้ แสดงว่าโปรดักต์มันยังไม่ฟิต นักลงทุนก็ไม่เลือกเหมือนกัน

“ลึกๆ ผมอยากเห็นยูนิคอร์นตัวแรกของไทย เราอยากให้สตาร์ตอัพไทยเติบโตมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง”

การที่จะไปถึงเป้าหมายได้ “สมโภชน์” บอกว่า ต้องผลักดัน 3 ส่วนหลัก คือ 1. สตาร์ตอัพไทยเองต้องมีศักยภาพที่เพียงพอ อีโคซิสเต็มต้องรองรับ ทีมต้องพร้อม เทคทาเลนต์ต้องมีเพียงพอ 2. โอกาส (Opportunity) และอุปสรรค (Threat) ซึ่งตอนนี้สตาร์ตอัพไทยมีคู่แข่งมากมายทั้งจากจีน และเซาธ์อีสต์เอเชีย 3. เรื่องของกฎและระเบียบ (rule and regulation) ทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะช่วยสนับสนุนเรื่องเหล่านี้

ดีแทค แอคเซอเลอเรท เป็นหนึ่งในภาคีคณะกรรมการที่เข้ามาช่วยผลักดันเรื่องเหล่านี้ การที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงสตาร์ตอัพ ทำให้เห็นโอกาสและอุปสรรคทุกอย่าง “สมโภชน์” ขยายความว่า เรื่อง rule and regulation ที่ไทยสู้สิงคโปร์ สู้มาเลเซียไม่ได้ หรือเรื่องของ ESOP (Employee Stock Options) คือ สิทธิที่จะซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เราไม่สามารถทำได้ ถ้าเราเป็นผู้ก่อตั้ง เราไม่มีเงินที่จะจ้างทาเลนต์ดีๆ เข้ามา เพราะ ESOP ไม่รองรับ หรือการถือครองหุ้นของกองทุนต่างชาติ แคปแม็ค อยู่ที่ 49% แต่สตาร์ตอัพ รูปแบบการลงทุนไม่เหมือนกัน ถ้าบริษัทใหญ่ๆ เขาจะมาร่วมลงทุนในไทย อยากถือหุ้นมากกว่า 49% เขาทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราต้องการ  สตาร์ตอัพไทยหากต้องการเปิดโอกาสผู้ลงทุนรายใหญ่ ก็ต้องไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์ เพราะนั้นคือ ต่างชาติจะสามารถเข้ามาถือหุ้นได้

การปลอดล็อกเรื่องของ ESOP ผู้บริหารคนนี้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ หากต้องการให้สตาร์ตอัพไทยเติบโต แข่งกับประเทศอื่นๆ ได้ ก็ต้องพยายามปลดล็อกข้อจำกัดตรงนี้

ในส่วนของการสนับสนุนสตาร์ตอัพไทย ดีแทค แอคเซอเลอเรท เองก็ต้องปรับตัวตลอดเวลา “สมโภชน์” เล่าว่า วิธีการบริหารจัดการของดีแทค แอคเซอเลอเรท ต้องขับเคลื่อนเร็ว ปรับตัวเร็ว เพราะดีแทค แอคเซอเลอเรท ก็เหมือนสตาร์ตอัพตัวหนึ่งที่ต้องปรับตัวเร็ว อย่างบูธแคมป์ในแต่ละปี จะปรับรายละเอียดตลอด โดยมี UI (User Interface), UX (User Experience) จากกูเกิล เข้ามาช่วย ซึ่งมันสำคัญกับ OKR (Objective & Key result) หรือวิธีการตั้งเป้าหมายให้แต่ละคน ...OKR คือ การแตก Action ที่เราต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นอย่างชัดเจน หรือ UI UX มันมีความสำคัญกับสตาร์ตอัพยุคปัจจุบันมากกว่าโปรดักต์มาร์เก็ตติ้ง สมัยก่อนอาจต้อง สร้าง (Build), วัดผล (Measure), เรียนรู้ (Learn) ตามกระบวนการเพื่อการเรียนรู้ของ Lean Startup แต่ตอนนี้สตาร์ตอัพ ที่มาเข้าแคมป์ เขาเก่งเรื่องพวกนี้มาก แต่สิ่งที่ขาด คือ UX UI และ OKR ซึ่งเป็นเทคนิคที่กูเกิลใช้ในการพัฒนาโปรดักต์ของเขา

6108236 (15)

“ตอนนี้เรา lean ด้วย Scale ด้วย จากอดีตที่บริษัทมี 5 คน กับวันนี้มี 50 คน 200 คน วิธีการเติบโตมันแตกต่างกัน แล้วคุณจะใช้สปีดในการเติบโตสตาร์ตอัพได้อย่างไร วิธีการ scale จะทำอย่างไร วิธีการบริหารจัดการ ตัวซีอีโอโตได้ 10 เท่าภายใน 5-6 เดือนได้ไหม พร้อมที่จะโตหรือเปล่า นี่คือ สิ่งที่จะเกิดในแคมป์ และนั่นคือ สิ่งที่เราปรับอยู่ตลอดเวลา”

ในขณะที่องค์กรต้องขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา “สมโภชน์” ในฐานะผู้นำ ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเช่นกัน เพื่อไม่ให้ทั้งองค์กรและตัวเขาเอง ล้าสมัย (obsolete) ซึ่งคำว่าล้าสมัยในยุคนี้ ไม่ได้กินเวลานานเป็นปี แต่อาจเพียงแค่ 3-5 เดือน สิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันก็กลายเป็นเรื่องล้าสมัยได้แล้ว

“คนที่เข้ามานั่งบริหารตรงนี้ มันมีหลายองค์ประกอบ แต่ส่วนสำคัญที่สุด คือ ตัวผมเอง “ต้องเปิดใจ” ผมเองก็มาจากองค์กรใหญ่ จบด้านวิศวะก็จริง แต่ก็ไปทำงานอยู่ในสายแบงก์มาตลอด ทุกอย่างอยู่ในกรอบ มีระบบซีเนียร์ แต่พอมาอยู่ตรงนี้ คุณไม่สามารถใช้ประสบการณ์ของคุณในการตัดสินเด็ก อันนี้สำคัญที่สุด ถ้าวันหนึ่งคุณใช้ประสบการณ์ของคุณเป็นตัวตัดสิน นั่นคือ คุณยืนอยู่บนขอบเหวแหละ ทุกสิ่งที่น้องทำ เราต้องเปิดใจให้กว้าง ยอมรับในเด็กรุ่นใหม่ แนวคิดของเขา บางทีเราคาดไม่ถึง เราต้องเปิดพื้นที่ให้เขาสามารถล้มเหลวได้ ในพื้นที่ที่เขามาทำงาน เพราะสตาร์ตอัพมันต้องเทสต์ตลอด”

“สมโภชน์” บอกว่า เมื่อเราเปิดใจ เราจะได้เรียนรู้อะไรอีกเยอะแยะ เด็กมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างในแต่ละยุคแต่ละสมัย หลายๆ อย่างที่ได้เข้าไปลองใช้ มันก็ดีกว่าของเก่าจริงๆ

“ถ้าในองค์กรใหญ่ แล้วคุณเจอเด็กที่ challenge คุณ แล้วคุณไม่เปิดใจ ผมว่าเหนื่อยมากๆ ที่จะทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้ อันนี้สำคัญ และสิ่งที่ต้องให้เครดิตคือ ทีมแมเนจเมนต์ ของดีแทค ซีอีโอ กรุ๊ป เขาเข้าใจบริบทเหล่านี้ เพราะฉะนั้น องค์กรใหญ่ๆ อย่าติดกับดักตัวเอง...ใช้ประสบการณ์ของทีมบริหาร ตรงนั้นไม่ได้ผิด มันเคยดี

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่มันไม่ได้การันตีว่ามันจะดีในยุคนี้ ต้องเปิดโอกาสให้เขาล้ม ในบริบทที่เรายอมรับได้ คุณมีโอกาสจะได้ไอเดียตรงนั้น ถ้าสำเร็จ มันได้มูลค่ามหาศาล”นั่นคือมุมมอง ที่ผู้บริหารดีแทค แอคเซอเลอเรท มองเห็น และนำมาใช้กับการพัฒนาองค์กรของเขา จนเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

หน้า 26-27 ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,400 วันที่ 13 - 15 กันยายน พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว