ป.ป.ช. แจงชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐ อบต.ห้วยขมิ้น กับพวก "ยังไม่ขาดอายุความ"

10 ก.ย. 2561 | 10:46 น.
"วรวิทย์" เลขาธิการ ป.ป.ช. แจงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัด อบต.ห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี กับพวก ทุจริตต่อหน้าที่ คดียังไม่ขาดอายุความ ยันสามารถดำเนินคดีอาญาต่อไปได้



วรวิทย์1


นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อบางแห่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเรื่องกล่าวหาร้องเรียนล่าช้า จนทำให้คดีขาดอายุความนั้น

ในการนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเรียนว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีกล่าวหา นายวีระพันธ์ ตั้งศิริเสถียร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี กับพวกรวม 9 ราย ว่าทุจริตเกี่ยวกับการดำเนินโครงการซ่อมแซมถนนลูกรังสายบ้านกกตาด–นิคมกระเสียว วงเงินงบประมาณ 360,000 บาท

จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่า เมื่อประมาณปลายปี 2545 องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขมิ้น โดยนายวีระพันธ์ ตั้งศิริเสถียร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้พิจารณาอนุมัติโครงการซ่อมแซมถนนลูกรังสายบ้านกกตาด–นิคมกระเสียว วงเงินงบประมาณ 360,000 บาท แต่ในทางไต่สวน ปรากฏว่า ถนนลูกรังสาย (สพ.1004) บ้านกกตาด–นิคมกระเสียว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เป็นถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานทางหลวงชนบท จ.สุพรรณบุรี

และเมื่อประมาณปลายปี 2545 ถนนสายดังกล่าวเกิดความชำรุดเสียหาย เนื่องจากเกิดอุทกภัยถูกน้ำป่ากัดเซาะ สำนักงานทางหลวงชนบท จ.สุพรรณบุรี จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดซ่อมบำรุงและรักษาทาง พร้อมด้วยรถยนต์และเครื่องจักรกล เข้าดำเนินการซ่อมแซมถนนสายดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วน

จากการสอบปากคำพยานบุคคล ซึ่งเป็นชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ติดกับถนนลูกรังสายบ้านกกตาด–นิคมกระเสียว ได้ให้การสอดคล้องตรงกันว่า พบเห็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทางหลวงชนบท จ.สุพรรณบุรี นำรถยนต์และเครื่องจักรกลซึ่งส่วนใหญ่มีสีฟ้าและสีเหลือง เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมถนนลูกรังสายบ้านกกตาด–นิคมกระเสียว โดยไม่ปรากฏว่า มีรถยนต์หรือเครื่องจักรกลของผู้รับจ้างหรือบริษัทเอกชนรายใดเข้ามาทำการซ่อมแซม ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนแต่อย่างใด

สอดคล้องกับถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทางหลวงชนบท จ.สุพรรณบุรี ที่เป็นผู้ทำการซ่อมแซมถนนอยู่ในพื้นที่ในขณะนั้น ได้ให้การว่า ในขณะที่กำลังดำเนินการซ่อมแซมถนนสายบ้านกกตาด–นิคมกระเสียวอยู่นั้น ไม่พบว่ามีบุคคลหรือหน่วยงานใดนำเครื่องจักรกลหรือแรงงานเข้าดำเนินการซ่อมแซมถนนร่วมกับสำนักงานทางหลวงชนบท จ.สุพรรณบุรี ทั้งก่อนเข้าไปดำเนินการซ่อมแซม ขณะดำเนินการซ่อมแซม และหลังดำเนินการแล้วเสร็จ อีกทั้งบริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขมิ้นก็ได้ยืนยันว่า มิได้เข้าเป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขมิ้นแต่อย่างใด

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนี้

1.นายวีระพันธ์ ตั้งศิริเสถียร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร อบต.ห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ได้ขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงให้ยุติการดำเนินคดีอาญากับนายวีระพันธ์ ตั้งศิริเสถียร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าว

2.นายนฤชิต หรือ ชัยวัฒน์ คง ณ ศิริ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธา อบต.ห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ได้ขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงให้ยุติการดำเนินคดีอาญากับนายนฤชิต หรือ ชัยวัฒน์ คง ณ ศิริ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ในความผิดฐานดังกล่าว

3.นายจามร เลิศประเสริฐศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัด อบต.ห้วยขมิ้น และ น.ส.ทิพยา สวนดอกไม้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลัง อบต.ห้วยขมิ้น มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 และ มาตรา 162 (1) (4) แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ได้ขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงให้ยุติการดำเนินคดีอาญากับ นายจามร เลิศประเสริฐศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 และ น.ส.ทิพยา สวนดอกไม้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 ในความผิดฐานดังกล่าว

ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับ นายนฤชิต หรือ ชัยวัฒน์ คง ณ ศิริ, นายจามร เลิศประเสริฐศรี และ น.ส.ทิพยา สวนดอกไม้ และส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ นายวีระพันธ์ ตั้งศิริเสถียร, นายนฤชิต หรือชัยวัฒน์ คง ณ ศิริ, นายจามร เลิศประเสริฐศรี และ น.ส.ทิพยา สวนดอกไม้ ตามฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 151 เป็นบทลงโทษที่หนักกว่ามีกำหนดอายุความ 20 ปี คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ (ขาดอายุความในปี 2565) และพนักงานอัยการสามารถดำเนินคดีอาญาฟ้องต่อไปได้ (สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2550, 453/2548, 9083/2544, 1532/2543, 1445/2530)

นายวรวิทย์ เลขาธิการ ป.ป.ช. ยังแถลงเพิ่มเติมว่า การดำเนินคดีในบางคดีที่อาจจะมีความล่าช้าบ้าง ทั้งนี้ เนื่องมาจากปริมาณคดีของสำนักงาน ป.ป.ช. มีจำนวนมาก จึงต้องบริหารจัดการตามความสำคัญของแต่ละคดีก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดระยะเวลาการดำเนินคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับแต่วันที่รับไต่สวน สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว โดยเคร่งครัด


e-book-1-503x62-7