ผลศึกษาสนช.ชี้ช่อง พัฒนาระบบราชการส่วนภูมิภาค

10 ก.ย. 2561 | 10:34 น.
 

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบรายงานผลการพิจารณา ศึกษาเรื่อง “การพัฒนาการบริหารระบบราชการส่วนภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) บริหารราชการ แผ่นดิน สนช. ซึ่งมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วจะส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณา ดำเนินการต่อไป

ผลการศึกษาได้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาคไว้ 3 ด้าน คือ 1.ลดปัญหาความเหลื่อม ลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภูมิภาค 2.กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล และ 3.สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค การบริหารงานราชการส่วนภูมิภาคเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายเหล่านี้ให้เกิดผลซึ่งต้องปฏิรูปทั้งในเชิงของโครงสร้าง ภารกิจ และการบริหารจัดการเพื่อให้มีความเหมาะสม มีสมรรถนะสูง และบูรณาการ
5296596595 ปรับโครงสร้าง 6 กลุ่มงาน

ในการพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนั้น ต้องดำเนินการดังนี้ ประการแรก คือ การพัฒนาภารกิจของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เสนอให้ปรับโครงสร้างภารกิจของราชการส่วนภูมิภาคเสียใหม่ให้ชัดเจน เพื่อตอบสนองต่อมิติบูรณาการ ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสามารถจัดกลุ่มภารกิจออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน คือ

1. กลุ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยส่วนราชการในภูมิภาคที่สังกัดกระทรวง และรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่มีหน่วยปฏิบัติในภูมิภาค เช่น ไฟฟ้า ประปา รวมถึงภาคธุรกิจและบริการ เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม มีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ แผนแม่บท แผนปฏิบัติการประจำปี รวมถึงโครง การที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านนี้และแผนขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ นำเทคโนโลยีมาใช้จัดทำฐานและระบบข้อมูล ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท แผนปฏิบัติการประจำปีให้เกิดผลในทางปฏิบัติ แก้ปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นระดับพื้นที่ ติดตามประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงานให้ผู้บริการในราชการส่วนภูมิภาค เป็นต้น

เช่นเดียวกันกับอีก 5 กลุ่มภารกิจ คือ กลุ่มภารกิจด้านเกษตร และการสร้างมูลค่าเพิ่ม, กลุ่มภารกิจ ด้านการพัฒนาเมือง โครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กลุ่มภารกิจด้าน สังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และการพัฒนาชุมชน, กลุ่มภารกิจด้านความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อย และกลุ่มภารกิจด้านการเมืองการบริหาร ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการสร้างพื้นฐานความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการเมืองของประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องตอบสนองต่อแผนขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ

การบริหารกลุ่มภารกิจต่างๆ นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้บริหารของราชการส่วนภูมิภาค อาจคัดเลือกมอบหมายให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคในสังกัดกระทรวง กรมอื่นๆ นอกเหนือจากข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในภูมิภาค ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มภารกิจ และเปิดโอกาสให้เข้าสู่ตำแหน่งระดับสูงของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยอาจเริ่มต้นจากการเข้าไปสู่ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน

ทั้งนี้คุณสมบัติและวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดได้เรียนรู้และสะสมประสบการณ์ ตลอดจนเป็นแรงจูงใจให้ปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาคเพื่อได้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการต่อไป

ลดหน่วยงานภารกิจทับซ้อน

นอกจากนั้น ยังเสนอให้ พัฒนาโครงสร้างของราชการส่วนภูมิภาค โดยลดจำนวนหน่วยงานส่วนกลางที่มีภารกิจทับซ้อนกับภูมิภาค และปรับส่วนราชการส่วนกลางในภูมิภาค ไปเป็นหน่วยงานในสังกัดราชการส่วนภูมิภาคโดยให้อยู่ในกลุ่มงานของกระทรวง กรมเดียวกันที่เป็นราชการส่วนภูมิภาค และเพิ่มบทบาทของหน่วยงานภูมิภาคทำหน้าที่เป็นผู้แทนกระทรวง กรมในภูมิภาค

ปรับภารกิจของหน่วยราชการส่วนกลางในภูมิภาค ให้เป็นภารกิจของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง กรมเดียวกันที่มีอยู่แล้วในภูมิภาค และถ่ายโอนภารกิจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถดำเนินการแทนได้และไม่กระทบต่อภารกิจของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค หรือเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน ในภารกิจที่ไม่กระทบต่อยุทธศาสตร์ นโยบายของราชการส่วนกลาง

ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงมิติด้านขนาดองค์กรที่เหมาะสม มิติเชิงประสิทธิภาพและความคุ้มค่า รวมถึงมิติด้านการบูรณาการและเอกภาพ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ แผนขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ แผนต่างๆ นโยบายของรัฐหรือระเบียบวาระแห่งชาติด้วย

คัดคนเก่งเข้าสู่ระบบ

ประการที่ 3 พัฒนาการบริหารงานบุคคลของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยส่วนกลางต้องจัดอัตรากำลังข้าราชการเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในราชการส่วนภูมิภาคให้เพียงพอ ครอบ คลุมและสอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มมากขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งยังจะต้องคัดเลือกคนดี คนเก่ง มีความรู้ความสามารถ รับผิดชอบทั้งภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวง กรม และของราชการส่วนภูมิภาคและการบริการประชาชน มีทักษะในการทำงานร่วมกับหน่วยราชการอื่นๆ ทั้งในแบบบูรณาการและประชารัฐ จะต้องมีการประเมินผลอย่างเข้มข้น โปร่งใส มีคุณธรรม เพื่อคัดสรรคนดี คนเก่ง เข้าสู่ระบบ รวมทั้งมีโทษทางวินัยในกรณีที่ประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ราชการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เป็นต้น

กรณีพื้นที่พิเศษ เช่น พื้นที่ ที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ต้องจัดบรรจุผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เข้าใจในภูมิสังคมของพื้นที่ สามารถปฏิบัติงานตามนโยบายและแผนงานต่างๆ ได้อย่าง มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

จัดงบตามความต้องการพื้นที่

ขณะเดียวกัน เสนอให้ปรับปรุงพัฒนาระบบงบประมาณของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค แบบเน้นพื้นที่ (Area Base) มุ่งเน้นประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ มียุทธศาสตร์และแผนพัฒนาจังหวัดเป็นแผนเดียว (One Plan) ที่บูรณาการแผนงานโครงการ ของจังหวัดและทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และ อปท. ให้เป็นเอกภาพ ทั้งในระดับ Agenda Function และ Area โดยให้จังหวัดจัดทำงบประมาณเป็นของตนเอง บูรณาการแผนงานต่างๆ ให้เป็นงบประมาณยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด

และที่สำคัญ คือ การพัฒนาสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งทำได้หลายวิธี อาทิ ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนที่เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้เสียกับโครงการของภาครัฐ เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ลดความระแวงสงสัยต่อโครงการของรัฐ ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของและร่วมกันดูแลรักษาโครงการหรือสิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้น เป็นต้น

และควรนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการบริหารจัด การภารกิจให้บรรลุผล จัดทำฐานและระบบข้อมูลของจังหวัด อำเภอ ให้ทันสมัยมีเอกภาพ บูรณาการระบบสารสนเทศร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาความต้องการของประชาชน

2 ปัจจัยสู่ความสําเร็จ บริหารราชการส่วนภูมิภาค

การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มี 2 ปัจจัยสำคัญซึ่งเป็นเงื่อนไขไปสู่ความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนเพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือประโยชน์จากกิจการสาธารณะของรัฐ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงสำคัญต่อความสำเร็จของการดำเนินการ รวมทั้งจะเป็นกระบวนการในการสร้างระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับฐานรากของประเทศ

อีกประการคือ มียุทธศาสตร์และงบประมาณที่ชัดเจน สอด คล้องกับทิศทางการพัฒนาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์และงบประมาณที่มีการบูรณาการและความชัดเจนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

|รายงานพิเศษ
| โดย : โต๊ะข่าวการเมือง
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 14 ฉบับ 3399 ระหว่างวันที่ 9-12 ส.ค2561