EXCLUSIVE | คนส่วนมากไม่รู้สึกว่า "เศรษฐกิจโต"!!

10 ก.ย. 2561 | 08:40 น.
| EXCLUSIVE |

โดย : TATA007

คนส่วนมากไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจโต!!

มุมมองจาก "ทวิช  เตชะนาวากุล"


นายทวิช เตชะนาวากุล ประธานกรรมการบริษัท กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค และผู้ถือหุ้นใน บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ (IFEC) สะท้อนมุมมองด้านเศรษฐกิจผ่าน
"ฐานเศรษฐกิจออนไลน์" ว่า เศรษฐกิจที่เติบโตทางตัวเลขนั้น คนส่วนมากไม่รู้สึก เพราะตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ใช้วัด เช่น GDP แสดงให้เห็นแต่ภาพรวมของประเทศ ไม่ได้สะท้อนถึงส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่มีคนเพียง 1% มีความมั่งคั่งโดยรวมมากกว่า 50% ของประเทศ (นั่นคือ 50% ของ GDP ตกไปสู่คนแค่ 1%) นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ United Nation (UN) และหลาย ๆ ประเทศในโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ต้องตั้งเป้าหมายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ (Reducing Inequality) เป็น 1 ในเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ (Sustainable Development Goals)


ทวิช1


เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องมีนโยบายรองรับ
ประการที่ 2 ความเหลื่อมล้ำ (Inequality) ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโลโนยีแบบเฉียบพลัน (Technology Disruption) เพราะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นผลของระบบเศรษฐกิจและสังคม เช่น ระบบทุนนิยม (Capitalism) ซึ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเงินทุนและทรัพยากรเพื่อก่อให้เกิดกำไรสูงสุดนั้น สร้างแรงจูงใจให้นายทุนเลือกที่จะลดต้นทุน ใช้ทรัพยากรที่ถูกลง เพื่อสร้างกำไรให้มากขึ้น เป็นผลให้เกิดการนำเอาเทคโนโลยีแบบใหม่ที่ถูกกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีหรือแรงงานเดิม โดยไม่ได้สนใจภาพรวมของเศรษฐกิจและสังคมว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องมีนโยบายเพื่อรองรับหรือป้องกันให้เกิดผลกระทบจากเหตุการณ์เช่นนั้นน้อยที่สุด เช่น เร่งสร้างทักษะใหม่มาทดแทนทักษะแบบเดิม ๆ ที่กำลังจะถูกแทนที่ ให้ความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อลดความหวาดกลัวและตื่นตระหนกของสังคม และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องปรับเปลี่ยนในภาพรวมทั้งหมดให้เป็นไปในทางเดียวกัน เช่น ระบบการศึกษา กฎหมาย กฎระเบียบ แรงงาน



ทวิช3


ประการที่ 3 การเปลี่ยนแปลงทางเทคโลโนยีแบบเฉียบพลัน (Technology Disruption) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมามากมายหลายครั้งแล้ว ไม่ใช่มีแค่ 2-3 ครั้ง ตามตัวเลขการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) อย่างที่เข้าใจกัน เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์ (Printing Press) เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ (Stream Engine) เทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion) ไปจนกระทั่งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (Computer) เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต (Internet) และเทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud Computing) ซึ่งในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ก็จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโดยรวม ต้องพยายามปรับตัวตาม และการปรับตัวทุกครั้งก็ต้องใช้เวลาไม่น้อย อีกทั้งในระหว่างที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีการคาดการณ์ถึงผลกระทบ มีความหวาดกลัว มีความตกใจกันไปต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการตกงานและการต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ขีวิต

แต่สุดท้ายแล้วก็จะสามารถผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทุกครั้งมาได้เสมอ เช่น เมื่อตอนที่เกิดคอมพิวเตอร์ขึ้น คนที่ทำงานด้านการคำนวณ งานที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข บัญชี งานเอกสาร ก็ต้องพยายามปรับตัว เปลี่ยนงาน พัฒนาทักษะใหม่ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้


ปรับเปลี่ยนแนวคิด-เรียนรู้ทักษะใหม่
ประการที่ 4 ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ไปจนถึงอนาคตอันใกล้นี้ เกิดขึ้นเฉพาะในด้านของการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างแบบจำลองในการคาดคะเนทางสถิติ (Statistical Prediction Model) เป็นหลัก ในด้านอื่น ๆ เช่น การจำลองเหตุผล (Logic Model) ยังไม่สามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดเช่นนั้น ซึ่งแปลว่า AI ในยุคปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้ จะเข้ามาแทนที่วิธีการทำงานแบบเดิม ๆ ของเฉพาะงานบางอย่าง ให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำลง นั่นแปลว่า คนที่เคยทำงานด้านนั้น หรือทำงานในวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ นั้น ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด และเรียนรู้ทักษะใหม่สำหรับวิธีการทำงานแบบใหม่ ซึ่งรัฐบาลสามารถช่วยเหลือในเชิงนโยบายได้โดยตรง



e-book-1-503x62