"ดีเอสไอ" จับมือ "True Money" แจ้งเตือนภัยไซเบอร์

10 ก.ย. 2561 | 06:00 น.
DSI

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนเข้าร้องเรียนผ่านหน่วยบริการประชาชนด้านงานคดีพิเศษในเรื่องที่เกี่ยวกับภัยไซเบอร์ โดยที่ผ่านมามีการแจ้งเบาะแสว่า มีการหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊ก จำนวน 207 เรื่อง หลอกลวงผ่าน Call Center ไม่น้อยกว่า 8 เรื่อง ประกอบกับมีประชาชนผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนให้ข้อมูลการกระทำความผิด โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชนเพื่อให้หลงเชื่อโอนเงินให้ ซึ่งมีวิธีการหลอกลวงหลากหลายรูปแบบ อาทิ การเข้าไปเจาะระบบเฟซบุ๊ก หรือ ไลน์ ของบุคคลอื่น เพื่อที่จะหลอกขอยืมเงินจากเพื่อนในเฟซบุ๊กหรือไลน์นั้น ๆ และการจัดทำเฟซบุ๊กปลอม แอบอ้างว่าเป็นบริษัทชื่อดัง หลอกเหยื่อว่าได้รับรางวัลใหญ่ แต่ต้องโอนเงินมาก่อน เพื่อยืนยันสิทธิ์ รวมถึงการปลอมเป็นร้านค้าขายของออนไลน์ หลอกให้ซื้อของราคาถูก , หลอกขอรับเงินบริจาค หรือประกาศหาคนทำงานออนไลน์ โดยหลอกให้ส่งสำเนาบัตรประชาชน และหมายเลขบัญชีธนาคารเพื่อคนร้ายจะนำเอาข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการรับเงินที่ได้จากการกระทำความผิดอื่น ๆ

 

[caption id="attachment_315060" align="aligncenter" width="503"] ไพสิษ (พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง)[/caption]

ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ร่วมกับ True Money ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ มีความห่วงใยประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนทั่วไปให้ระมัดระวังภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวโดยมีข้อพึงระวัง ดังต่อนี้

1.ระมัดระวังการลงข้อมูลส่วนบุคคลในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะคนร้ายอาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการกระทำความผิดได้ เช่น ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ รูปถ่ายบัตรประชาชน รวมถึงรูปถ่ายส่วนตัวของตนและบุคคลในครอบครัว

2.การตั้งรหัสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ควรใช้รหัสผ่านที่คาดเดาได้ง่าย เช่น หมายเลขโทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด หรือรหัสประจำตัวนักเรียน/นักศึกษา

3.เมื่อมีเพื่อนหรือคนรู้จักขอยืมเงินผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรมีการติดต่อไปยังบุคคลดังกล่าวทางช่องทางอื่นอีกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน ไม่ควรรีบโอนเงินให้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโอนเงินเข้าชื่อบัญชีธนาคารของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ชื่อของเพื่อนที่มายืมเงิน

4.เมื่อพบเห็นเฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์รับสมัครงาน ให้ตรวจสอบว่า บริษัทดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่ มีที่ตั้งอยู่ที่ใด ลักษณะของงานที่ทำเป็นอย่างไร ช่องทางการติดต่อกับบริษัทมีช่องทางที่สามารถยืนยันตัวตนได้ นอกจากทางเฟซบุ๊กหรือทางไลน์หรือไม่ หากไม่แน่ใจ ไม่ควรส่งสำเนาบัตรประชาชน หมายเลขบัญชีธนาคารให้โดยเด็ดขาด

5.การรับจ้างเปิดบัญชีธนาคารให้บุคคลอื่น หากบัญชีนั้นถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิด เจ้าของบัญชีจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ให้ความร่วมมือกับมิจฉาชีพ จึงขอให้ประชาชนที่หลงผิด รีบปิดบัญชีที่รับจ้างเปิดไว้โดยเร็ว

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือมีเบาะแสการกระทำความผิดสามารถสอบถาม/แจ้งเบาะแสได้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ สายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร.1202 โทรฟรีทั่วประเทศ


e-book-1-503x62-7