วิศวะฯ มธ. วิเคราะห์ 11 จังหวัดภาคอีสาน มีแนวโน้มน้ำท่วม-น้ำแล้งรุนแรง

10 ก.ย. 2561 | 05:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เปิดสถิติปริมาณฝนของไทยย้อนหลัง 60 ปี วิเคราะห์ผลและสร้างแบบจำลอง คาดการณ์สภาพอากาศ พบ 11 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล ที่มีแนวโน้มเกิดภัยพิบัติจากฝนแล้งรุนแรงขึ้นในอนาคต โดยมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก 6 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซาก 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มุกดาหาร ชัยภูมิ นครราชสีมา และสุรินทร์



ดร.ชวลิต ชาลีรักษ์ตระกูล


ศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ชาลีรักษ์ตระกูล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า จากงานวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อปริมาณน้ำ ฝนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ลุ่มน้ำโขง ชี และมูล) โดยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลฝนระดับสถานีจากกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย กับข้อมูลภูมิอากาศระดับโลกของแบบจำลองการหมุนเวียนอากาศจากประเทศอังกฤษ แคนาดา ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ พบว่า มีข้อมูลภูมิอากาศที่มีความสำคัญในการพยากรณ์ฝน ได้แก่ ปริมาณน้ำฝน ค่าความกดอากาศที่ระดับน้ำ ทะเลปานกลาง ความแรงของการไหลเวียนอากาศ ทิศทางลม ความชื้นในอากาศ โดยแบบจำลองความสัมพันธ์นี้ สามารถใช้ในการวิเคราะห์จังหวัดที่มีแนวโน้มจะประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซากได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมรับมือภัยพิบัติในอนาคต

ทั้งนี้ จากงานวิจัยดังกล่าวพบข้อมูลพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก 6 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี โดยแบ่งเป็นพื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ส่วนมากจะอยู่บริเวณตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ลุ่มแม่น้ำโขง รองลงมาเป็นพื้นที่สีส้ม ในลุ่มแม่น้ำมูล และพื้นที่สีเหลืองที่เกือบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซาก 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มุกดาหาร ชัยภูมิ นครราชสีมา และสุรินทร์ ประกอบไปด้วย พื้นสีแดง เป็นพื้นที่เฝ้าระวังการเกิดภัยแล้งรุนแรงขึ้นในอนาคต ส่วนมากจะกระจุกตัวบริเวณตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลุ่มแม่น้ำชี และบางส่วนของทางตะวันออกของภาค รองลงมา คือ พื้นที่สีส้ม ในลุ่มแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง และพื้นที่สีเหลืองที่เกือบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการวิเคราะห์เชิงสถิติจากการบันทึกข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนย้อนหลังเท่านั้น ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความแตกตื่น แต่การศึกษาในครั้งนี้จะมีประโยชน์สำหรับการเตรียมรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ยังสามารถคาดการณ์สถานการณ์น้ำฝนล่วงหน้าในอนาคตได้

ศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต กล่าวต่อว่า "ในแต่ละปี ไทยจะสามารถผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมโยธาได้จำนวนมาก แต่กลับมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มุ่งสู่อาชีพด้านชลศาสตร์ กลายเป็นอาชีพที่ไทยยังขาดแคลน และยังส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษา ที่จะต้องเร่งปั้นนักศึกษาของตนให้เชี่ยวชาญ และสร้างแรงบันดาลใจให้อยากจบออกไปทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำมากขึ้น ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และต้องการให้นักศึกษาวิศวกรรมโยธาทุกคนได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการทำงานในด้านนี้เช่นเดียวกัน"

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นในการสร้างบุคลากรด้านวิศวกรพันธุ์ใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญศาสตร์ที่ผสมผสาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ซึ่งที่ผ่านได้พัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมในสาขาต่าง ๆ จนเป็นที่ยอมรับของสังคมตลอดมา เพื่อตอบยุทธศาสตร์ประเทศ รวมถึงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ ปัจจุบัน คณะฯ มีหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งหลักสูตรภาษาไทยและนานาชาติจำนวนมาก รวมถึงมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนชั้นนำทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เร็ว ๆ นี้ คณะฯ กำหนดเปิดตัวการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ที่จะพลิกโฉมหลักสูตรวิศวกรรมในประเทศไทยให้สอดรับกับความต้องการของโลกอย่างแท้จริง


23626556