มัดสัญญาเดียว 'อู่ตะเภา' !! จูงใจต่างชาติชิง 2 แสนล้าน - แลกสัมปทาน 50 ปี

09 ก.ย. 2561 | 06:58 น.
090961-1343

เปิดร่าง PPP ชิง 2 แสนล้าน พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ประมูลสัญญาเดียวกินรวบ 4 โครงการ ทั้งอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ , ศูนย์การค้า , คาร์โก วิลเลจ , คาร์โก เทอร์มินัล เปิดช่องทางหารายได้เชิงพาณิชย์ ... 'คณิศ' ยันทุนจีนร่วมวงแน่

การเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐ ตามสัญญา PPP Net Cost หรือ การเปิดให้ภาคเอกชนได้รับสิทธิจัดเก็บรายได้จากธุรกิจการบิน รายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วน ค่าที่ดินให้แก่ภาครัฐ ตามข้อตกลง โดยจะเปิดกว้างเชิญชวนนักลงทุนทั่วโลกให้เข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ในพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ มูลค่ารวม 2 แสนล้านบาท มีความคืบหน้าตามลำดับ


TP11-3280-AB-090961-1344


แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพเรือ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้มีข้อเสนอหลายเรื่องจากกลุ่มที่ปรึกษา บริษัท AECOM ประเทศสหรัฐฯ และบริษัท KPMG ประเทศอังกฤษ ซึ่งกองทัพเรือ (ทร.) ได้ว่าจ้างให้มาวางแนวทางในการศึกษาร่วมทุนที่เตรียมเสนอคณะกรรมการคัดเลือกผู้ร่วมทุนของกองทัพเรือ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาออกทีโออาร์ในเดือน ต.ค. นี้


รวมกลุ่มคอนซอร์เตียม
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาระบุว่า คุณสมบัติของเอกชนที่จะยื่นประมูลมีข้อเสนอทางเทคนิค ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการสนามบินระดับนานาชาติ ที่มีผู้โดยสารใช้บริการไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน และสนามบินต้องมีการให้บริการที่พึงพอใจ โดยมีคะแนนจาก ACI Airport Service Quality (ASQ) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.2 คะแนน อย่างน้อย 1 ปี หรือต้องติดอันดับ Top 100 ของสกายแทร็กซ์


app-mp27-3071-a


อีกทั้งผู้ลงทุนควรจะรวมกลุ่มกันมาเป็นลักษณะคอนซอร์เตียม ซึ่งการพิจารณาผู้ลงทุนจะดูความเหมาะสมทั้งในเรื่องประสบการณ์ บริหารสนามบิน เงินทุน การก่อสร้าง แผนในการบริหารจัดการสนามบินในส่วนต่าง ๆ และในการยื่นข้อเสนออาจมีต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วน 75% คนไทย 25% ได้ แต่เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้วในการทำสัญญาการลงทุน หรือ การดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ในสนามบินจะต้องมีการจดทะเบียนและสัดส่วนการถือหุ้นเป็นไปตามกฎหมายไทยที่บางกิจกรรมเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้เกิน 49% บางกิจกรรมให้ถือหุ้นได้ไม่เกิน 49%

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า สำหรับองค์ประกอบของการพัฒนาจะมีการเปิดประมูลสัญญาเดียว โดยเอกชนจะต้องเสนอแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับสนามบิน รวมการลงทุนในการพัฒนา 4 โครงการ ได้แก่ 1.อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 2.ศูนย์ธุรกิจ พื้นที่เชิงพาณิชย์ 3.คาร์โก วิลเลจ และ 4.กลุ่มอาคารคลังสินค้า การบริหารและการบำรุงรักษาตลอดอายุสัญญา 50 ปี ไม่รวมธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการบินที่จะเปิดเป็น PPP อีกส่วนหนึ่งที่แยกออกไป


1521090841004


รับผู้โดยสารสูงสุด 60 ล้านคน
อย่างไรก็ดี สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน ที่เอกชนผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้ในส่วนนี้ ซึ่งทางที่ปรึกษาเสนอทางเลือกในการพัฒนา ได้แก่ ศูนย์ธุรกิจ ประกอบด้วยพื้นที่ค้าปลีก เอาต์เลตสโตร์ บิสิเนสเซ็นเตอร์ บริการด้านไมซ ร้านค้ารับผู้โดยสารต่อเครื่อง ศูนย์กลางธุรกิจขนส่ง โรงแรม เป็นต้น

ทั้งนี้ ทีโออาร์จะกำหนดการพัฒนาเป็นกรอบ 3 ระยะ คือ 1.การลงทุนเพื่อรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน 2.รองรับ 30 ล้านคน และ 3.รองรับ 60 ล้านคน แต่รูปแบบการลงทุนจะกำหนดว่าต้องลงทุนในเฟสแรกก่อน ส่วนที่เหลือก็จะยืดหยุ่นได้ตามปริมาณการจราจรทางอากาศ แต่ต้องยึดตามกรอบที่ได้กำหนดไว้ในทีโออาร์ ที่ปรึกษาได้วางไว้ 2 แนวทาง คือ 1.ลักษณะซิงเกิลเทอร์มินัล ลงทุนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และแยกพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆ กับ 2.มัลติเพิล เทอร์มินัล ที่อาจจะลงทุนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ก่อน ตามด้วยอาคารหลังที่ 4 ซึ่งไม่ว่าทางเลือกไหน ผู้ลงทุนต้องวางแผนพัฒนาพื้นที่นอกอาคารในการสร้างสถานีและเส้นทางเชื่อมต่อการเดินทางกับมอเตอร์เวย์และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะมาจอดใกล้อาคารผู้โดยสารในสนามบินด้วย


appMP26-3059-A-1


ทร. ลงทุนรันเวย์ 2
"นอกจากนี้ ทีโออาร์จะระบุชัดเจนถึงสัญญาในการร่วมใช้พื้นที่ ระหว่างผู้ร่วมลงทุนกับกองทัพเรือ ที่ต้องคงไว้ให้มีขีดความสามารถในการปกป้องประเทศ ที่ต้องไม่ลดน้อยลงไป ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์รันเวย์ได้สูงสุด โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนสร้างรันเวย์ 2 สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ของผู้ลงทุน แต่ ทร. อาจจะขอใช้รันเวย์ 2 ในบางกรณี" แหล่งข่าว กล่าว

ต่อเรื่องนี้ พล.ร.อ.โสภณ วัฒนมงคล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือและประธานกรรมการบริหารโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ กล่าวว่า ข้อเสนอต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเป็นไปตามแนวทางในการศึกษาร่วมทุนที่เป็นร่างเบื้องต้น ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปของทีโออาร์ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ยังต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุน เพื่อกลั่นกรองก่อนจะออกมาเป็นทีโออาร์ได้ภายในเดือน ต.ค. นี้ เพื่อให้เอกชนมายื่นข้อเสนอได้ในเดือน ม.ค. 2562

 

[caption id="attachment_314823" align="aligncenter" width="503"] ©eeco.or.th ©eeco.or.th[/caption]

ส่วนผลการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุน เบื้องต้นพบว่า ผู้ลงทุนจะมีอัตราผลตอบแทนโครงการ 10-12% และอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น 11-13% และในการทำมาร์เก็ตซาวดิ้งใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ทางรัฐบาลได้เชิญนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน ผู้บริหารสนามบิน ผู้รับเหมาระดับชั้นนำ สถาบันการเงิน สถานทูต กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ เข้าร่วมรับฟังกว่า 300 คน

อาทิ Avi Alliance Gmbh Of Germany , GMR Group-Airport , GVK Airport India , VINCI Airport Singapore , China State Construction Engineering , EGIS Group (ฝรั่งเศส) , TAV Airport Holdings , AGP Corporation (ญี่ปุ่น) , อียิปต์ แอร์พอร์ต , ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น , Egis International , แฟรงก์เฟิร์ต แอร์พอร์ต , King Wai Group , Harrow Management Internation 1 , โลจิสติกส์ แอร์ สหรัฐอเมริกา , แบงก์ ออฟ ไชน่า , ซีพีแลนด์ , สิงห์เอสเตท , ซูมิโตโม คอร์ปอเรชัน , ช การช่าง , อิตาเลียนไทย ฯลฯ

 

[caption id="attachment_314814" align="aligncenter" width="314"] คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)[/caption]

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า จากที่ นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และนักลงทุนของจีน เดินทางมาเยือนไทย เมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และได้ลงพื้นที่สำรวจลู่ทางลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี นั้น ทางนายหวัง หย่ง ได้ยืนยันว่า รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีนมีความประสงค์ที่จะยื่นประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกอย่างแน่นอน เพราะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่จีนมีความชำนาญ ขณะนี้ รอเพียงการเปิดประกาศเชิญชวนหรือประกาศทีโออาร์ออกมาเท่านั้น


บางกอกแอร์จ้อง 3 โครงการ
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยว่า บริษัทได้แสดงความสนใจที่จะเข้าประมูล 3 โครงการหลัก คือ ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และคลังสินค้า ซึ่งกำลังรอดูรายละเอียดของทีโออาร์


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,399 วันที่ 9-12 ก.ย. 2561 หน้า 01+02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'สนามบินฯ อู่ตะเภา' ผนึก 'เอไอเอส' พัฒนาสมาร์ทเทอร์มินอล
ทัพเรือเดินหน้าจัด Market Sounding "สนามบินอู่ตะเภา" รอบ 2 เร่งหานักลงทุนร่วมขับเคลื่อนสู่ศูนย์กลางการบินภูมิภาค!!

เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว